วันพุธที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2554

คำสอนองค์พระสัมมาสัมพุทะเจ้า การทำใจให้เหมือนธาตุทั้ง ๕

                                                  ทำใจเหมือนธาตุทั้ง ๕ 
             พระพุทธเจ้าทรงสอนพระราหุลว่า คนทั้งหลายทิ้งของสะอาด ของสกปรก อุจจาระ ปัสสาวะ น้ำลาย น้ำหนอง เลือด ลงที่แผ่นดิน แผ่นดินจะอึดอัดหรือระอา หรือเกลียดด้วยของนั้นก็หาไม่ ฉันใด เธอจงทำใจเสมอด้วยแผ่นดิน ฉันนั้น เพราะเมื่อเธอทำใจเสมอด้วยแผ่นดินอยู่ ผัสสะอันน่าพอใจและไม่พอใจที่เกิดขึ้นแล้วจักไม่ครอบงำจิตของเธอได้
                                                                        (มหาราหุโลวาทสูตร ๑๓/๑๔๐)
            ธรรมดาแผ่นดินย่อมรับน้ำหนักของสิ่งต่าง ๆ บนโลกไว้ได้ ฉันใด เราก็ควรอดทนต่อคำล่วงเกินของผู้คนในโลกไว้ได้ ฉันนั้น

            ธรรมดาน้ำย่อมอยู่ในสภาพที่เย็น ฉันใด เราก็ควรอยู่ในสภาพที่เยือกเย็นเสมอ คือ ไม่โกรธ ไม่เบียดเบียน ด้วยอาศัยขันติ และความเมตตากรุณา ฉันนั้น

            ธรรมดาไฟย่อมเผาหญ้า กิ่งไม้ ใบไม้ ฉันใด เราก็ควรเผากิเลส มีความโกรธเป็นต้น ด้วยไฟคือญาณ (ทำลายกิเลสด้วยปัญญา) ฉันนั้น

            ธรรมดาพายุย่อมพัดหมุนหมู่ไม้ทั้งปวงให้พินาศ ฉันใด เราก็ควรขยี้กิเลส มีความโกรธเป็นต้น ให้แหลกราน ฉันนั้น

            ธรรมดาอากาศไม่มีใครจับยึดไว้ได้ ฉันใด เราก็ไม่ควรให้กิเลส มีความโกรธเป็นต้น ยึดถือได้ ฉันนั้น
                                                                             (มิลินทปัญหา จักกวัตติวรรค)

            ผัสสะเรียกอีกอย่างว่าสัมผัส หมายถึงการถูกต้องที่ก่อให้เกิดความรู้สึก มี ๖ อย่างคือสัมผัสทางตา ..หู ..จมูก ..ลิ้น ..กาย และ สัมผัสทางใจ

             ผู้ใดสามารถทำใจเสมอด้วยดิน น้ำ ไฟ ลม อากาศ ย่อมมีจิตใจมั่นคง เมื่อประสบกับสิ่งที่น่าพอใจก็ไม่ยินดี เมื่อประสบกับสิ่งที่ไม่น่าพอใจก็ไม่ยินร้าย ดังนางจูฬสุภัททา อริยสาวิกาผู้โสดาบัน ได้กล่าวไว้ว่า ถึงมีผู้ถากร่างกายข้างหนึ่งด้วยมีดพร้า ทาร่างกายอีกข้างหนึ่งด้วยของหอม ข้าพเจ้าก็ไม่มีความยินดียินร้าย

             ถ้าสามารถทำใจให้มั่นคงไม่ยินดียินร้ายได้เช่นนี้ ความโกรธก็เกิดขึ้นไม่ได้
                  ใครชอบ ใครชัง ช่างเถิด ใครเชิด ใครชู ช่างเขา
                  ใครเบื่อ ใครบ่น ทนเอา ใจเรา ร่มเย็น เป็นพอ

                                                                                          (สำนวนเก่า)

ขอบคุณข้อมูลดีๆจาก http://www.dhammajak.net/book/koda/koda14.php

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น