ผลของกรรม
๑. ผลการฆ่าสัตว์ ตายไปจะเข้าถึงอบาย หากไม่เข้าถึงอบายถ้าเกิดเป็นมนุษย์ก็มีอายุสั้น ผลการไม่ฆ่าสัตว์ ตายไปจะเข้าถึงสุคติ โลกสวรรค์ หากไม่เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ถ้าเกิดเป็นมนุษย์ก็มีอายุยืน
๒. ผลการเบียดเบียนสัตว์ ถ้าเกิดเป็นมนุษย์ก็มีโรคมาก ผลการไม่เบียดเบียนสัตว์ ถ้ามาเกิดเป็นมนุษย์ก็มีโรคน้อย
๓. ผลการเป็นคนมักโกรธ ถ้าเกิดเป็นมนุษย์ก็มีผิวพรรณทราม ผลการเป็นคนไม่มักโกรธ ... ถ้าเกิดเป็นมนุษย์ก็มีผิวพรรณงาม
๔. ผลการริษยาในลาภสักการะของคนอื่น ... ถ้าเกิดเป็นมนุษย์ก็มีศักดิ์ต่ำ ผลการไม่ริษยาในลาภสักการะของคนอื่น ... ถ้าเกิดเป็นมนุษย์ก็มีศักดิ์สูง
๕. ผลการไม่ให้ทาน ... ถ้าเกิดเป็นมนุษย์ก็ยากจน ผลการให้ทาน ... ถ้ามาเกิดเป็นมนุษย์ก็ร่ำรวย
๖. ผลของความกระด้างเย่อหยิ่ง ไม่ไหว้คนที่ควรไหว้ ... ถ้าเกิดเป็นมนุษย์ก็เกิดในตระกูลต่ำ ผลของความไม่กระด้างเย่อหยิ่ง ไหว้คนที่ควรไหว้ ... ถ้าเกิดเป็นมนุษย์ก็เกิดในตระกูลสูง
๗. ผลการไม่เข้าไปหาผู้รู้ ไม่สนใจถามเรื่องบาป บุญ ดี ชั่ว ... ถ้าเกิดเป็นมนุษย์ก็โง่เขลา ผลการเข้าไปหาผู้รู้ สนใจถามเรื่องบาป บุญ ดี ชั่ว ... ถ้าเกิดเป็นมนุษย์ก็มีปัญญาดี
ทักขิณาวิภังคสูตร (๑๔/๗๑๑) พระพุทธเจ้าตรัสถึงผลการให้ทานว่า
๑. ให้ทานในสัตว์เดรัจฉานได้ผลร้อยเท่า
๒. ให้ทานในปุถุชนผู้ทุศีลได้ผลพันเท่า
๓. ให้ทานในปุถุชนผู้มีศีลได้ผลแสนเท่า
๔. ให้ทานในบุคคลภายนอกผู้ปราศจากความกำหนัดในกามได้ผลแสนโกฏิเท่า
๕. ให้ทานในท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำโสดาปัตติผลให้แจ้งได้ผล นับประมาณไม่ได้
๖. ถ้าให้ทานในพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี พระอรหันต์ พระปัจเจกพุทธะ และพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผลยิ่งไม่อาจนับประมาณได้เลย
สัปปุริสทานสูตร (๒๒/๑๔๘) พระพุทธเจ้าตรัสถึงทาน ๕ ประการ
๑. ทานที่ให้ด้วยศรัทธา ทำให้ร่ำรวยและมีรูปงาม
๒. ทานที่ให้โดยเคารพ ทำให้ร่ำรวยและมีบุตร ภรรยา บริวาร ที่เชื่อฟัง
๓. ทานที่ให้โดยกาลอันควร ทำให้ร่ำรวยตั้งแต่ปฐมวัย
๔. ทานที่ให้ด้วยจิตอนุเคราะห์ ทำให้ร่ำรวยและพอใจใช้ของดีๆ
๕. ทานที่ให้โดยไม่กระทบตนและผู้อื่น ทำให้ร่ำรวยและทรัพย์นั้นปลอดภัยจากไฟ น้ำ หรือการแย่งชิงของผู้อื่น
ทานสูตร (๒๓/๔๙) พระพุทธเจ้าตรัสถึงการให้ทาน ๗ อย่าง
๑. การให้ทานด้วยคิดว่า ตายไปจักได้เสวยผลทานนี้ เมื่อตายแล้วย่อมเกิดในสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา
๒. การให้ทานด้วยคิดว่า ทานเป็นการดี เมื่อตายแล้วย่อมเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
๓. การให้ทานด้วยคิดว่า บิดามารดาปู่ย่าตายายเคยให้ เราไม่ควรทำให้เสียประเพณี เมื่อตายแล้วย่อมเกิดในสวรรค์ชั้นยามา
๔. การให้ทานด้วยคิดว่า เราหุงหากินได้จะไม่ให้ทานแก่สมณะผู้ไม่หุงหา ไม่สมควร เมื่อตายแล้วย่อมเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิต
๕. การให้ทานด้วยคิดว่า เราจักเป็นผู้จำแนกแจกทานเหมือนฤษีครั้งก่อน เมื่อตายแล้วย่อมเกิดในสวรรค์ชั้นนิมมานรดี
๖. การให้ทานด้วยคิดว่า เมื่อเราให้ทานอย่างนี้ จิตจะเลื่อมใส เกิดความปลื้มใจสุขใจ เมื่อตายแล้วย่อมเกิดในสวรรค์ชั้นปรนิมมิตวสวัตดี
๗. การให้ทานเพื่อเป็นเครื่องปรุงแต่งจิต เมื่อตายแล้วย่อมเกิด ในพรหมโลก (ชั้นสุทธาวาส) ภายหลังย่อมปรินิพพานในภพนั้นเอง (อรรถกถาอธิบายว่า เขาไม่อาจไปเกิดในพรหมโลกด้วยทาน แต่ด้วยจิตอันประดับด้วยทานนั้น เขาทำฌานและอริยมรรคให้บังเกิด ย่อมเกิดในพรหมโลกด้วยฌาน)
อรรถกถาธรรมบท ภาค ๔ กล่าวถึงทาน ๔ ประการ คือ
๑. ให้ทานด้วยตน ไม่ชักชวนผู้อื่น ย่อมได้โภคสมบัติ ไม่ได้บริวารสมบัติ
๒. ชักชวนผู้อื่น ไม่ให้ด้วยตน ย่อมได้บริวารสมบัติ ไม่ได้โภคสมบัติ
๓. ไม่ให้ด้วยตน ทั้งไม่ชักชวนผู้อื่น ย่อมไม่ได้โภคสมบัติ ไม่ได้บริวารสมบัติ
๔. ให้ด้วยตน ทั้งชักชวนผู้อื่น ย่อมได้ทั้งโภคสมบัติ และบริวารสมบัติ
อรรถกถากล่าวว่า ทานที่มีผลมากประกอบด้วยองค์ ๓ คือ
๑. ผู้รับมีศีลมีคุณธรรม
๒. ของที่ให้ได้มาอย่างสุจริต มีประโยชน์และสมควรแก่ผู้รับ
๓. มีเจตนาบริสุทธิ์ มีจิตใจที่ยินดี แจ่มใส เบิกบาน ทั้งก่อนให้ ขณะให้ และเมื่อให้แล้ว
อรรถกถากล่าวว่า ผลแห่งบาปจะมากหรือน้อยขึ้นกับองค์ ๓ คือ
๑. ถ้าคน สัตว์ หรือสิ่งของที่ล่วงละเมิด มีความดี ประโยชน์ หรือมูลค่ามาก บาปก็มาก ถ้าความดี ประโยชน์หรือมูลค่าน้อย บาปก็น้อย
๒. ถ้าความพยายามมากก็บาปมาก ถ้าความพยายามน้อยก็บาปน้อย
๓. ถ้าเหตุจูงใจคือราคะโทสะโมหะมากก็บาปมาก ถ้าราคะโทสะโมหะน้อยก็บาปน้อย
ขอบคุณข้อมูลจากเวบ http://www.dhammajak.net/book/kam/kam04.php |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น