วันพฤหัสบดีที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

สมเด็จองค์ปฐม ทรงพระเมตตาตรัสสอนเรื่องพรหมวิหาร๔




เรื่องพรหมวิหาร ๔

          เมื่ออาทิตย์ที่ ๑๖ พ.ค. ๒๕๓๖ สมเด็จองค์ปฐม ทรงพระเมตตาตรัสสอนเรื่องพรหมวิหาร๔ ให้ มีความสำคัญ ดังนี้

          ๑. จงมองหาความพอดีของร่างกายให้พบ และประการสำคัญ มองหาความพอดีของจิตให้พบเช่นกัน โดยอาศัยมัชฌิมาปฏิปทาเป็นทางสายกลาง อันไม่เบียดเบียนทั้งกายและจิตของตนเองเป็นหลัก

          ๒. จงมีพรหมวิหาร ๔ เป็นพื้นฐานของศีล สมาธิ ปัญญาขึ้นในจิตของตน เจริญพรหมวิหาร ๔ อยู่เนือง ๆ เพื่อเป็นกำลังเลี้ยงศีล สมาธิ ปัญญา ให้ทรงตัว ที่เจ้าอึดอัดขัดข้องกายและจิตอยู่นี้ เพราะพรหมวิหาร ๔ อ่อนเกินไป ขอให้ศึกษาทบทวนพรหมวิหาร ๔ ให้เป็นที่เข้าใจยิ่ง ๆ ขึ้นไปด้วย

          ๓. บุคคลใดขาดพรหมวิหาร ๔ ในจิตและกายของตน บุคคลนั้นยากที่จักทำความเพียรให้บรรลุมรรคผลขั้นสูงสุด ได้ยาก

          ๔. ขาดพรหมวิหาร ๔ ในจิตและกายของตน อารมณ์ก็จักมีแต่ความเร่าร้อน หาความสงบระงับมิได้ ให้หมั่นศึกษาพรหมวิหาร ๔ ดู และให้คิดพิจารณาทบทวนถึงเหตุผลของการมีและไม่มีพรหมวิหาร ๔ ด้วย อย่าศึกษาเพียงแค่อ่านและใช้สัญญารู้เพียงแค่ตัวหนังสือหยาบเกินไป ผลไม่เกิด

          ๕. อ่านทบทวนแล้วพิจารณาได้ผลอย่างไร เข้าใจว่าอย่างไรในพรหมวิหาร ๔ นี้ ก็ให้ลงบันทึกไว้ด้วย ซักซ้อมจิตให้มีอารมณ์เกาะพรหมวิหาร ๔ เข้าไว้

          ๖. พรหมวิหาร ๔ มีหลายระดับ จากกำลังอ่อน ๆ เอาเพียงแค่ศึกษาพื้น ๆ ก็พอ ถ้ารู้เพียงแค่นั้น ศีล สมาธิ ปัญญา จะเข้าถึงขั้นอธิจิตสิกขากับอธิปัญญาสิกขาได้ยาก

          ธัมมวิจัย ขออนุญาตเขียนไว้เป็นตัวอย่าง ตามคำสั่งของสมเด็จองค์ปฐมที่ว่า ให้ทบทวน ให้หมั่นศึกษา ให้หมั่นพิจารณาได้ผลอย่างไรให้บันทึกไว้ด้วย จึงขอเขียนเป็นข้อ ๆ ดังนี้

          ๑. พรหมวิหาร ๔ เป็นอารมณ์คิด พิจารณาทั้ง ๔ ข้อ การคิดพิจารณา เป็นต้นเหตุทำให้ปัญญาเกิด ใครไม่ทำตามท่านก็เป็นกรรมของผู้นั้น

          ๒. พรหมวิหาร ๔ เป็นทั้งอาหารและกำลังของ ศีล สมาธิ ปัญญา ผู้ใดอยากรู้รายละเอียดให้อ่านหรือฟังเทปที่หลวงพ่อฤๅษีท่านสอนไว้ มีรายละเอียดอยู่มากมาย

          ๓. เมตตา ความรัก ท่านให้หลักไว้ ๓ ข้อ คือ การกระทำนั้น (กรรม) ต้องไม่เบียดเบียนตนเอง (จิต) เป็นข้อแรก กรรมนั้นต้องไม่เบียดเบียนผู้อื่น (ร่างกาย) และกรรมนั้นต้องไม่เบียดเบียนทั้งตนเองและผู้อื่น หากขัดกับข้อใดข้อหนึ่งใน ๓ ข้อนี้แล้ว การกระทำนั้นมิใช่เมตตาในพุทธศาสนา

          ๔. ปัญญาทางพุทธ ท่านให้ใช้ถามและตอบจิตของตนเองด้วยเหตุด้วยผล โดยไม่ขัดต่อศีล สมาธิ ปัญญา อย่าไปถามคนอื่น บางคนยังไม่ทันใช้ความเพียรของตน หรือยังไม่ได้ปฏิบัติก็ถามผู้อื่นเสียก่อนแล้ว สงสัยเสียก่อนทำ ให้เลิกนิสัยนี้เสีย

          ๕. ธรรมทุกอย่างในพุทธศาสนา ต้องได้ด้วยความเพียรที่จิตและกายของตนเท่านั้น จึงจะเป็นของแท้ ของจริง คือ เพียรมากพักน้อยก็ได้เร็ว เพียรน้อยพักมากก็ได้ช้า

          ๖. พรหมวิหาร ๔ มี ๓ ระดับ เช่น ใครไม่มีเมตตา ก็ให้ทานทำทานไม่ได้ ถ้ามีเมตตาขั้นต่ำ สามารถทำทานได้ และทำแล้วยังมีอารมณ์เสียดายในทานอยู่ และยังหวังผลตอบแทนจากการทำทานของตน ยังไม่สนใจการรักษาศีล ถ้ามีเมตตาขั้นกลาง ทำทานแล้วจิตยังนึกอธิษฐานขอนั่นขอนี่อยู่ (หวังผลตอบแทน) ขอมากกิเลสก็ยังมาก ขอน้อยกิเลสก็บางลง พวกนี้ยอมรักษาศีล เริ่มเจริญภาวนาด้วย ถ้ามีเมตตาสูงไม่หวังผลตอบแทนใด ๆ ทั้งสิ้น จิตไม่อธิษฐานขออะไรทั้งหมดใน ๓ โลก คือ มนุษย์โลก เทวโลก และพรหมโลก จิตทำเพื่อพระนิพพานจุดเดียว พวกนี้มี ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นปกติอยู่กับจิต

          ๗. พรหมวิหาร ๔ นี้ละเอียดมาก จึงขอเขียนไว้แค่เป็นตัวอย่าง หากผู้ใดมีพรหมวิหาร ๔ เต็มและทรงตัว ผู้นั้นก็จบกิจในพระพุทธศาสนาเพราะเมื่อหมดอารมณ์เบียดเบียนตนเอง (จิต) ได้ถาวรแล้ว ก็ไม่มีทางที่จะไปเบียดเบียนผู้อื่นได้ จิตพ้นภัยตนเองแล้ว เพราะภัยที่ร้ายแรงที่สุดของการปฏิบัติธรรมก็คือ ภัยจากอารมณ์จิตของตนเองทำร้ายจิตตนเอง กรรมหมดตรงนี้ เพราะจิตดวงนี้ไม่สร้างกรรมอีก ไม่ต่อกรรมอีก

          ๘. มัชฌิมาปฏิปทาหรือทางสายกลาง ก็คือพรหมวิหาร ๔ นี่เอง(ไม่ขอเขียนรายละเอียด)

          ๙. แค่เมตตาความรักข้อแรกในพรหมวิหาร๔ หากผู้ใดเข้าใจและนำไปปฏิบัติจะเห็น จะรู้อารมณ์จิตของตนเองได้อย่างดีและจะอุทานว่า พรหมวิหาร ๔ นี้จริง ๆ แล้ว มันง่ายนิดเดียว

          ๑๐. คนส่วนใหญ่มักจะเมตตาผิดตัวคือไปเมตตากายมากกว่าจิต และบางคนหลงคิดว่ากายคือตัวเขา เพราะเขาไม่รู้จักจิต มีรายละเอียดอยู่มากไม่ขอเขียน การกระทำของเขาจึงเพิ่มสักกายทิฏฐิแทนที่จะลดสักกายทิฏฐิ เพราะสักกายทิฏฐิ พระท่านแปลว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวเนื่องกับร่างกาย

          ๑๑. พรหมวิหาร ๔ ของชาวโลก กับพรหมวิหาร ๔ ของชาวธรรม จึงแตกต่างกันชนิดตรงกันข้าม

          ๑๒. หากเอาพรหมวิหาร ๔ พิจารณาควบคู่กันไปกับบารมี ๑๐ แล้ว จะทำให้เกิดผลดีทั้งสองฝ่าย เพราะธรรม ๒ หมวดนี้ ต่างก็อาศัยกันและกัน ช่วยเสริมกำลังให้แก่กัน เพราะบารมี ๑๐ ก็มาจากศีล สมาธิ ปัญญา และพรหมวิหาร ๔ ก็เป็นอาหารของศีล สมาธิ ปัญญา หากเข้าใจดีแล้ว การพิจารณาคุณของพรหมวิหาร ๔ จึงมีมากสุดประมาณ ยากที่จะพิจารณาลงให้จบได้อย่างบริบูรณ์ เพราะว่าต้องอาศัย บารมีธรรมหรือบารมี ๑๐ ซึ่งก็มีตั้งแต่หยาบ กลาง และละเอียดเช่นกัน ในข้อนี้เป็นการแนะนำขององค์สมเด็จท่าน

                                     เมื่อพิจารณามาได้จนถึงจุดนี้ สมเด็จองค์ปัจจุบัน ท่านก็ทรงพระเมตตามาตรัสสอนว่า

          ๑. ถ้าจะให้พรหมวิหาร ๔ เต็ม ต้องอาศัยบารมี ๑๐ เป็นพื้นฐาน

          ๒. พยายามรักษาอารมณ์จิตให้เบา ๆ เข้าไว้ การเดินมรรคด้วยจิตจึงจักได้ผล

          ๓. การเอาจริงมิใช่การทำด้วยความเครียด การเอาจริง คือการรู้วาระของจิตถ้าจิตต้องการพัก เราก็พักในสมถะภาวนา ถ้าจิตต้องการคิด เราก็วิปัสสนาสลับไปสลับมาเรื่อย ๆ ตามอารมณ์ของจิต พยายามให้สบาย ๆ อย่าเคร่งเครียด จิตจะเป็นสุขอยู่ได้ทั้งสมถะและวิปัสสนา

          เมื่อปฏิบัติตามที่พระองค์ทรงเมตตาแนะนำ ก็เริ่มปฏิบัติตามนั้น การพิจารณาก็เกิด

          ความสงสัยขึ้นมาว่า บารมี ๑๐ อิงพรหมวิหาร ๔ หรือพรหมวิหาร ๔ อิงบารมี ๑๐ กันแน่ สมเด็จองค์ปัจจุบันก็ทรงตรัสว่า

          ๑. อิงด้วยกันและกัน เพราะในที่สุดธรรมะถ้ารู้แจ้งอย่างแท้จริงแล้ว ธรรมะนั้นก็จักไปในทางเดียวกัน ชื่อเรียกธรรมต่าง ๆ เวลานี้ ที่พวกเจ้ายังศึกษาอยู่ เรียกว่าสมมุติธรรม

          ๒. เมื่อพวกเจ้าศึกษาจนเป็นอเสขะบุคคลแล้ว เมื่อนั้นก็ถึง วิมุติธรรม ธรรมล้วน ๆไม่มีชื่อ อย่าไปเถียงหรือขัดแย้งกันว่าอะไรมันผิด เหมือนกับบางท่านจับสมถะก่อนแล้วจับวิปัสสนา บางท่านจับวิปัสสนาก่อนแล้วจับสมถะ ไม่มีอะไรผิด

          ๓. ที่ทบทวนเพียงแค่นี้ยังใช้ไม่ได้ หยาบเกินไป ต้องนำมาคิดพิจารณาใหม่อยู่เนือง ๆ มิฉะนั้นพรหมวิหาร ๔ บารมี ๑๐ จักเต็มได้ยาก

          ๔. อย่าทิ้งอิทธิบาท ๔ เป็นอันขาด ทุกอย่างสำเร็จได้ด้วยความเพียร

                                              พล.ต.ท.นพ.สมศักดิ์ สืบสงวน ผู้รวบรวม

1 ความคิดเห็น: