ความชั่ว ไม่ทำเสียเลย ดีกว่า
พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสว่า ขึ้นชื่อว่าทุจริต แม้เพียงเล็กน้อยบุคคลไม่ควรทำ ด้วยความสำคัญว่า “ชนพวกอื่นย่อมไม่รู้กรรมนี้ของเรา” ส่วน สุจริตนั่นแหละ เมื่อคนอื่นแม้ไม่รู้ก็ควรทำ, เพราะว่าขึ้นชื่อว่าทุจริต แม้บุคคลปกปิดทำ ย่อมทำการเผาผลาญในภายหลัง, ส่วนสุจริตย่อมยังความปราโมทย์อย่างเดียวให้เกิดขึ้น ดังนี้แล้ว จึงตรัสพระคาถานี้ว่า:-
“กรรมชั่ว ไม่ทำเสียเลยดีกว่า, เพราะว่า กรรมชั่ว ย่อมเผาผลาญในภายหลัง,
ส่วนบุคคลทำกรรมใดแล้ว ไม่ตามเดือดร้อน, กรรมนั้น เป็นกรรมดี อันบุคคล ทำแล้ว ดีกว่า”
(จาก...พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท)
หลวงปู่ดู่มักจะกล่าวเตือนศิษยานุศิษย์ ทั้งที่ใกล้ชิดและห่างไกล ตลอดจนสาธุชนญาติโยมทั้งหลาย ให้พึงสังวรอยู่เสมอก็คือ เรื่องควรงดเว้นกระทำกรรมชั่วโดยเด็ดขาด โดยท่านจะนำเอาพุทธพจน์ที่ว่า “ขึ้นชื่อว่าความชั่วแล้ว ไม่ทำเสียเลยดีกว่า” มาเป็นข้อเตือนสติแก่ทุกคน เพราะการกระทำกรรมใด ไม่ว่าจะเป็นกรรมดีหรือกรรมเลวก็ตาม จิตของผู้นั้นจะบันทึกเก็บงำข้อมูลเอาไว้โดยละเอียด เมื่อใดที่ถึงกาลมรณะ จิตตัวนี้จะเป็นตัวชี้นำไปสู่สุคติ หรือทุคติอย่างชัดเจน
จิตตัวนี้ สำคัญนัก แม้เพียงไปยึดติดหรือข้องอยู่กับกรรมเพียงน้อยนิด ขณะใกล้จะสิ้นใจตาย ก็ยังสามารถเบี่ยงเบนจุดหมายปลายทางที่จะไปเกิดได้ ลักษณะที่จิตไปจับกรรมในขณะกำลังจะถึงมรณกาล เรียกว่า “มรณาสันนวิถี” นี้ หลวงปู่ดู่ท่านเคยกล่าวถึง พระภิกษุผู้ปฏิบัติกรรมฐานขั้นสูงรูปหนึ่ง พระภิกษุรูปนี้ หรือ อาจารย์รูปนี้เป็นที่แน่ใจว่า ไม่มีทางไปสูทุคติ หรือ ภูมิแห่งความทุกข์ยากลำบากอย่างแน่นอน ท่านถึงกับบอกแก่บรรดาศิษย์ของท่านว่า “หากท่านมรณภาพวันใด ทุกคนจะได้ยินเสียงปี่พาทย์ราดตะโพนมารับ” (คงหมายถึง เหล่าเทวดาแสดงเสียงดนตรีสวรรค์ต้อนรับ)
ต่อมาอาจารย์รูปนี้อาพาธ และมีอาการทรุดหนักเกินกว่าจะเยียวยารักษาได้ กระทั่งมรณภาพ ในวันมรณภาพนั้น ศิษยานุศิษย์ และทายก ทายิกา มาชุมนุมกันเป็นจำนวนมาก เมื่ออาจารย์สิ้นลมหายใจ ทุกคนก็คิดว่า จะได้ยินเสียงปี่พาทย์ราดตะโพน แต่กลับไม่ได้แว่วเสียงอะไรเลย ทุกคนต่างพากันผิดหวังระคนเสียใจ ที่อาจารย์ของตนไม่ได้ไปดีดังที่ท่านตั้งปณิธาน และเชื่อมั่น อีกทั้งยังเกิดห่วงใยอาจารย์ไปต่าง ๆ นานา
เหตุที่อาจารย์มิได้ไปตาม วิถีดังที่ตั้งใจ หลังจากมรณภาพแล้วนั้น เนื่องจากก่อนท่านจะอาพาธ มีโยมนำอ้อยมาถวาย ท่านจึงได้นำไปปลูกไว้ และเอาใจใส่รดน้ำอยู่เสมอ จนอ้อยเจริญงอกงามขึ้น เรื่อย ๆ ขณะที่ท่านใกล้จะถึงกาลมรณภาพ เกิดคิดไปถึงอ้อยกำลังเจริญงามเต็มที่ น่าจะตัดอ้อยไปปอกถวายพระฉัน
ด้วยเหตุที่จิตไปข้องอยู่กับอ้อย เมื่อสิ้นใจตาย จึงไปเกิดเป็นตัวเล็น ติดอยู่ที่ต้นอ้อย ไปไหนไม่รอด พิธี งานศพของอาจารย์ยังดำเนินไปเรื่อย ๆ จนถึงวันที่ ๗ ทายกเห็นอ้อยกำลังงาม จึงได้ตัดไปปอกเปลือกแล้วควั่นอ้อยถวายพระ เป็นโอกาสดีของอาจารย์ท่าน จึงโมทนาไม่ติดเกาะอยู่ที่นั่นอีก
ทันทีที่อาจารย์หลุดพ้นจากอัตภาพ ตัวเล็น เสียงปี่พาทย์ราดตะโพนก็ดังกังวานขึ้นในอากาศ เป็นที่ประจักษ์ของผู้ร่วมงานทุกคน ทำให้ทายก ทายิกา และบรรดาศิษย์ทั้งหลาย บังเกิดความปีติปราโมทย์กันทั่วหน้า เพราะเป็นไปตามวาจาของอาจารย์ทุกประการ
เหตุนี้ หลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ จึงกล่าวย้ำซ้ำเตือนตามพุทธพจน์เสมอว่า “ขึ้นชื่อว่าความชั่ว ไม่ทำเสียเลยจะดีกว่า” เพราะถ้าจิตไปยึดติดกรรมเพียงน้อยนิด ก็ยังไม่อาจไปสู่สุคติได้ ดังเช่น อาจารย์ซึ่งปฏิบัติธรรมกรรมฐานมาอย่างเคี่ยวกรำ กระทั่งจิตหมดจดสดใสแล้ว เพียงแค่เกิดความห่วงใย “อยาก" จะนำอ้อยไปถวายให้พระฉันเท่านั้น ถึงกับไปไหนไม่รอดเอาดื้อ ๆ ดังเรื่องราวซึ่งได้กล่าวมาแล้ว
คติธรรม :-
พระ นิพพานอุปมาขนาดเท่าเส้นผม ผู้ที่จะผ่านพ้นในขั้นสุดท้ายไปได้หรอืไม่ได้อยู่เพียงนิดเดียวในการทำจิต ตัดจุดนี้ได้หรือไม่เท่านั้น พระพุทธเจ้าตอนที่ท่านจะปรินิพพาน ท่านได้ปรินิพพานไประหว่างรูปฌานและอรูปฌาน เป็นการดับขันธ์ด้วยความบริสุทธิ์เหนือสมมติโดยสิ้นเชิง"
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น