วันพุธที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2554

คำสอนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเรื่องการอดทนอดกลั้นต่อคำล่วงเกินและผู้ประเสริฐในหมู่มนุษย์

           เมื่อพระศาสดาประทับอยู่ ณ กรุงโกสัมพี พระนางมาคันทิยา อัครมเหสีของพระเจ้าอุเทน ซึ่งผูกอาฆาตในพระศาสดา เพราะบิดาเคยยกนางให้พระศาสดา แต่ถูกปฏิเสธ ด้วยความแค้นที่ฝังใจ พระนางทรงจ้างพวกชาวเมืองรวมทั้งทาสและกรรมกร รับสั่งว่า พวกท่านจงด่าบริภาษพระสมณโคดม (ชื่อที่พวกลัทธิอื่นเรียกพระพุทธเจ้า) ผู้เสด็จเข้ามาในเมืองให้เตลิดหนีไป

          เมื่อพระศาสดาเสด็จเข้ามาในเมือง พวกมิจฉาทิฏฐิผู้ไม่เลื่อมใสในพระรัตนตรัยเหล่านั้น ได้ติดตามด่าพระศาสดาด้วยคำด่า (ที่นิยมด่ากันในสมัยนั้น) ๑๐ (เจ้าเป็นโจร พาล บ้า อูฐ วัว ลา สัตว์นรก สัตว์ดิรัจฉาน สุคติของเจ้าไม่มี เจ้าหวังได้ทุคติอย่างเดียว)

          ท่านพระอานนท์ฟังคำนั้นแล้ว ได้กราบทูลพระศาสดา
           พระอานนท์  : ชาวเมืองเหล่านี้ด่าว่าพวกเรา พวกเราควรไปที่อื่น
           พระพุทธเจ้า : ไปไหน อานนท์
        
   พระอานนท์  : ไปเมืองอื่น
          
พระพุทธเจ้า : เมื่อพวกชาวเมืองนั้นด่าอีก เราจักไปที่ไหนกันเล่า อานนท์
        
   พระอานนท์  : ออกจากเมืองนั้น ไปเมืองอื่น
          
พระพุทธเจ้า : อานนท์ การกระทำอย่างนี้ไม่ควร เรื่องเกิดขึ้นในที่ใด เมื่อมันสงบในที่นั้นแล จึงควรไปที่อื่น อานนท์ ก็พวกที่ด่าเป็นพวกไหนเล่า
         
  พระอานนท์  : พวกชาวเมืองตลอดจนทาสและกรรมกรพากันมาด่า
          
พระพุทธเจ้า : อานนท์ เราเป็นเช่นกับช้างที่เข้าสู่สงคราม การอดทนต่อลูกศรที่แล่นมาจาก ๔ ทิศ เป็นภาระของช้างที่เข้าสู่สงคราม ฉันใด การอดทนต่อถ้อยคำที่คนทุศีล (ไม่มีศีล) เป็นอันมากกล่าวแล้ว เป็นภาระของเรา ฉันนั้น เราจักอดกลั้นต่อคำล่วงเกิน ดังช้างศึกที่อดทนต่อลูกศร เพราะคนเป็นอันมากเป็นผู้ทุศีล บุคคลผู้อดกลั้นต่อคำล่วงเกินได้ ฝึกตนดีแล้ว เป็นผู้ประเสริฐในหมู่มนุษย์

            การตบมือข้างเดียวย่อมไม่ดัง ฉันใด เมื่อฝ่ายตรงข้ามสงบนิ่ง ทำหูทวนลมเสีย การด่าอยู่แต่ฝ่ายเดียวก็ไร้ประโยชน์ ฉันนั้น พวกปากรับจ้างด่าจนเมื่อยปาก ก็เกิดความเบื่อหน่าย เลิกด่าไปเอง เรื่องก็สงบลงใน ๗ วัน

                                                                                           (อรรถกถาธรรมบท ภาค ๒ เรื่องนางสามาวดี)


          เขาด่าว่าเราอย่างหยาบคาย ด้วยเรื่องไม่จริง และโดยกาลอันไม่สมควร เขาเองควรจะเดือดร้อน (ด้วยความต่ำทราม ความโกหกตอแหล และความไม่รู้จักกาลเทศะของเขา) ไม่ใช่เราเดือดร้อน
                                                                                  
                                                                                                    (โจทนาสูตร ๒๒/๑๖๗)
       
          การกล่าวร้าย หรือหมิ่นประมาท เป็นเสมือนยาพิษซึ่งศัตรูวางแก่เรา เพื่อให้เราโกรธแค้น เพื่อทำลายสมรรถภาพในการงาน ทำลายสุขภาพอนามัย และความสงบกายสบายใจของเรา แล้วเหตุไฉนเราจึงต้องกลืนกินยาพิษที่เขาวางไว้เพื่อประทุษร้ายเรา
                                                                                      (กำลังใจ โดย หลวงวิจิตรวาทการ)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น