วันพฤหัสบดีที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2554

ของดีนั้นมีอยู่ในตัวเราทุกคน คำสอนหลวงปู่ดู่

หลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ
วัดสะแก อ.อุทัย จ.พระนครศรีอยุธยา  

                           
          คนเราเกิดมาไม่เห็นมีอะไรดี มีดีอยู่อย่างเดียว คือ สวดมนต์ไหว้พระปฏิบัติภาวนาคือ มองทุกสิ่งทุกอย่างในโลกเป็นของชั่วคราว มีแต่ปัญหามีแต่ทุกข์ แล้วก็เสื่อม พังสลายไปในที่สุด
ดูก่อนท่านผู้เห็นภัยในวัฏฏสงสาร(การเวียนว่ายตายเกิด) ทั้งหลาย ถ้าท่านต้องการพ้นภัยจากการเกิดแก่เจ็บตาย ท่านควรมีคุณธรรม 6 ประการนี้ไว้เป็นประจำจิตประจำใจ ทุกท่านย่อมจะได้บรรลุมรรคผลนิพพาน ถึงความสุขใจอย่างยอดเยี่ยม
คุณ 6 ประการนั้นคือ

1. ข่มจิตในเวลาที่ควรข่ม
2. ประคับประคองจิตในยามที่ควรประคับประคอง
3. ทำจิตให้ร่าเริงในยามที่ควรร่าเริง
4. ทำจิตวางเฉยในยามที่ควรวางเฉย
5. มีจิตน้อมไปในอริยมรรค อริยผลอันประณีตสูงสุด
6. มีจิตตั้งมั่นในพระนิพพานเป็นจุดหมายปลายทางของชีวิต

                 ผู้ปฏิบัติที่มีความสามารถฉลาดย่อมจะต้องศึกษาจิตใจและอารมณ์ของตนให้เข้าใจ และรู้จักวิธีกำหนดปล่อยวางหรือควบคุมจิตใจและอารมณ์ให้ได้ เปรียบเสมือนเวลาที่เราขับรถยนต์ จะต้องศึกษาให้เข้าถึงวิธีการขับขี่ที่ปลอดภัย บางครั้งควรเร่ง บางคราวควรผ่อน บางทีก็ต้องหยุดเร่งในเวลาที่ควรเร่ง ผ่อนในเวลาที่ควรผ่อน หยุดในเวลาที่ควรหยุด ก็จะสามารถถึงที่หมายได้อย่างปลอดภัย
ข้อสำคัญที่สุดของการปฏิบัติคือ ต้องไม่ประมาท ต้องปฏิบัติให้เต็มที่ตั้งแต่วันนี้ ใครจะรู้ว่าความตายจะมาถึงเราเมื่อไร ถ้าเราปฏิบัติไม่เป็นเสียแต่วันนี้ เวลาใกล้จะตายมันก็ไม่เป็นเหมือนกัน เหมือนคนที่เพิ่งคิดหัดว่ายน้ำ เวลาใกล้จะจมน้ำตาย นั่นแหละก็จมตายไปเปล่า ๆ ถ้าใน 1 วันนี้ไม่ปฏิบัติภาวนาวันนั้นขาดทุนเสียหายหลายล้านบาท
                  จงมองดูทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ไม่ว่า คนสัตว์สิ่งของ เงิน ทอง ลาภ ยศ นินทา สรรเสริญ เป็นของโกหกของสมมุติ ภาพมายาทั้งนั้น ทุกอย่างไม่ใช่ของจริงเป็นของหลอกลวงที่คนไม่ฉลาดต่างพากันหลงใหลกับสิ่งของสมมุติของโกหก ไม่ว่าอารมณ์ดี อารมณ์ร้าย ก็ไม่ใช่ของเราจริงผ่านมาแล้วก็ผ่านไป ทุกข์ทั้งหลายเกิดจากเหตุ(คือ ความไม่รู้ ความอยากได้)
                 ถ้าต้องการดับทุกข์ ต้องดับเหตุก่อน คือ ให้รู้ว่าทั้ง 3 โลก เป็นอนิจจัง เปลี่ยนแปลงเป็นโทษเป็นทุกข์เป็นปัญหา และสูญสลายตายกันในที่สุด ถ้าเรามีญาณก็จะรู้ ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดในชีวิตเราไม่มีการบังเอิญเลย
                ผู้ปฏิบัติธรรมย่อมพิจารณาร่างกายคนสัตว์ในโลกว่าน่าเกลียดน่ากลัว เป็นทุกข์เป็นโทษเป็นภาระต้องดูแลอย่างหนัก เน่าเหม็นแตกสลายตายไปกันหมด ผู้ที่มีศรัทธาแท้คือผู้ที่เชื่อและยอมรับ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นที่พึ่งแทนที่จะเอาความโลภ ความโกรธ ความหลงมาเป็นที่พึ่ง
               ผู้ปฏิบัติตามพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอน คือ ให้ขยันภาวนา แล้วความโลภ ความโกรธ ความหลงจะน้อยลงและหมดไป
               ผู้ปฏิบัติต้องหมั่นตามดูจิต รักษาจิต ผู้ฝึกจิตถ้าทำจิตให้มีอารมณ์หลายอย่างจะสงบไม่ได้ และ ไม่สภาพของจิตตามเป็นจริง ถ้าทำจิตให้ดิ่งแน่วแน่อยู่ในอารมณ์อันเดียว
                โดยเห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างแตกสลายตายหมดสิ้นแล้ว จิตก็มีกำลังเปล่งรัศมีแห่งความสว่างออกมาเต็มที่ มองสภาพของจิตตามเป็นจริง ได้ว่าอะไรเป็นจิต อะไรเป็นกิเลส อะไรควรรักษา อะไรควรละทิ้งออกจากจิต ไม่ควรใส่ใจสนใจเรื่องของผู้อื่น
                ควรตั้งใจตรวจสำรวจดูจิตของเราเองว่ายังมีความโลภ ความโกรธ ความหลง คิดว่าร่างกายนี้ยังเป็นของจิตหรือไม่ ตามความเป็นจริงแล้ว จิตกับกายไม่ใช่อันเดียวกัน เพียงแต่มาอาศัยกันชั่วคราวเท่านั้น
อารมณ์วางเฉยมี 3 อย่าง
1. วางเฉยแบบหยาบ คือ อารมณ์ปุถุชนที่เฉย ๆ ไม่คิดดี ไม่คิดชั่ว ซึ่งมีเป็นครั้งคราวเท่านั้น
2. วางเฉยแบบกลาง มีในผู้ปฏิบัติสมาธิภาวนา มีความรู้ตัว มีความสงบของจิต วางอารมณ์จากความดี ความชั่ว สุข ๆ ทุกข์ ๆ ใด ๆ ในโลกีย์วิสัย เฉยบ่อยมากขึ้น
3. วางเฉยแบบละเอียด คือ อารมณ์ของพระอริยเจ้า พระอรหันต์ ซึ่งไม่มีอารมณ์สุขหรือทุกข์ ดีหรือชั่ว ดีใจปนเสียใจ วิตกกังวลฟุ้งซ่านรำคาญใจ ไม่มี ไม่คิดปรุงแต่งไปในอดีต ปัจจุบัน อนาคต มีความวางเฉยในร่างกายของท่านเอง จะเจ็บปวดทรมาน จิตท่านนิ่งเฉยอยู่ในจิตของท่านว่าจิตส่วนจิต กายเป็นเพียงของสมมุติของชั่วคราว ตายเมื่อไร ท่านก็พร้อมที่จะทิ้งรูปนามขันธ์ เสวยวิมุติสุขแดนอมตะทิพย์นิพพานติดตามองค์พระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า
ของดีนั้นมีอยู่ในตัวเราทุกคน ของดีนั้นอยู่ที่จิตของท่านทุกท่าน ของไม่ดีอยู่ที่ร่างกาย
จิตมี 3 ขั้น ตรี โท เอก
ถ้าตรีก็ต่ำหน่อย ยังวุ่นวายเป็นทุกข์กับเรื่องของโลก
ขั้นโท ก็มีศีลครบ มีเมตตา ทำบุญทำทาน
ขั้นเอกนี่ ดีมาก จิตก็มองดูทุกสิ่งทุกอย่างในโลกมนุษย์ สัตว์ นรก เป็นทุกข์ มีความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา แล้วก็ตายสลายผุพังไปกันหมดสิ้น ตัวอนัตตา ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ของตน ไม่มีใครเป็นเจ้าของ บังคับเอาไว้ให้คงที่ก็ไม่ได้ ตัวนี้แหละเป็นตัวเอก ไล่ไปไล่มา ให้มันเห็นร่างกายคนเรา ตายแน่ ๆ คนเราหนีตายไม่พ้น แม้เพียงวันเดียว

1. ตายน้อย ก็คือ นอนหลับทุกคืน หลับชั่วคราว คือ ตายทุกคืน ตื่นตอนเช้า
2. ตายใหญ่ ก็คือ นอนหลับตลอดกาล แต่จิตไปตื่นตรงที่มีกายใหม่ มีกายใหม่ที่อื่นเป็นกายผี กายสัตว์ กายเทวดา กายพรหม แล้วแต่ผลบุญหรือผลบาปที่ทำไว้ตอนเป็นคน

ดีชั่วอยู่ที่ตัวทำ สูงต่ำอยู่ที่ทำตัว

http://www.sangthipnipparn.com/luktampratanporn/tampratanporn%20luangpoo%20doo.html

ขอขอบคุณข้อมูลจาก http://www.bp.or.th/webboard/index.php?topic=22238.0;wap2

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น