วันเสาร์ที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ผลของกรรม ใครอยากได้ผลแบบไหน เชิญทำแบบนั้นนะครับ


ผลของกรรม
        จูฬกัมมวิภังคสูตร(๑๔/๕๗๙)พระพุทธเจ้าตรัสถึงผลของกรรมดีกรรมชั่ว ๗ คู่ ดังนี้

          ๑.   ผลการฆ่าสัตว์     ตายไปจะเข้าถึงอบาย หากไม่เข้าถึงอบายถ้าเกิดเป็นมนุษย์ก็มีอายุสั้น ผลการไม่ฆ่าสัตว์ ตายไปจะเข้าถึงสุคติ โลกสวรรค์ หากไม่เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ถ้าเกิดเป็นมนุษย์ก็มีอายุยืน

          ๒.  ผลการเบียดเบียนสัตว์   ถ้าเกิดเป็นมนุษย์ก็มีโรคมาก ผลการไม่เบียดเบียนสัตว์  ถ้ามาเกิดเป็นมนุษย์ก็มีโรคน้อย

           ๓. ผลการเป็นคนมักโกรธ    ถ้าเกิดเป็นมนุษย์ก็มีผิวพรรณทราม ผลการเป็นคนไม่มักโกรธ ... ถ้าเกิดเป็นมนุษย์ก็มีผิวพรรณงาม

           ๔. ผลการริษยาในลาภสักการะของคนอื่น ... ถ้าเกิดเป็นมนุษย์ก็มีศักดิ์ต่ำ ผลการไม่ริษยาในลาภสักการะของคนอื่น ... ถ้าเกิดเป็นมนุษย์ก็มีศักดิ์สูง

           ๕. ผลการไม่ให้ทาน ... ถ้าเกิดเป็นมนุษย์ก็ยากจน ผลการให้ทาน ... ถ้ามาเกิดเป็นมนุษย์ก็ร่ำรวย

           ๖. ผลของความกระด้างเย่อหยิ่ง ไม่ไหว้คนที่ควรไหว้ ... ถ้าเกิดเป็นมนุษย์ก็เกิดในตระกูลต่ำ ผลของความไม่กระด้างเย่อหยิ่ง ไหว้คนที่ควรไหว้ ... ถ้าเกิดเป็นมนุษย์ก็เกิดในตระกูลสูง

           ๗. ผลการไม่เข้าไปหาผู้รู้ ไม่สนใจถามเรื่องบาป บุญ ดี ชั่ว ... ถ้าเกิดเป็นมนุษย์ก็โง่เขลา ผลการเข้าไปหาผู้รู้ สนใจถามเรื่องบาป บุญ ดี ชั่ว ... ถ้าเกิดเป็นมนุษย์ก็มีปัญญาดี

           ทักขิณาวิภังคสูตร (๑๔/๗๑๑) พระพุทธเจ้าตรัสถึงผลการให้ทานว่า
          ๑. ให้ทานในสัตว์เดรัจฉานได้ผลร้อยเท่า

          ๒. ให้ทานในปุถุชนผู้ทุศีลได้ผลพันเท่า

          ๓. ให้ทานในปุถุชนผู้มีศีลได้ผลแสนเท่า

          ๔. ให้ทานในบุคคลภายนอกผู้ปราศจากความกำหนัดในกามได้ผลแสนโกฏิเท่า

          ๕. ให้ทานในท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำโสดาปัตติผลให้แจ้งได้ผล นับประมาณไม่ได้

          ๖. ถ้าให้ทานในพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี พระอรหันต์ พระปัจเจกพุทธะ และพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผลยิ่งไม่อาจนับประมาณได้เลย

           สัปปุริสทานสูตร (๒๒/๑๔๘) พระพุทธเจ้าตรัสถึงทาน ๕ ประการ
          ๑. ทานที่ให้ด้วยศรัทธา ทำให้ร่ำรวยและมีรูปงาม

          ๒. ทานที่ให้โดยเคารพ ทำให้ร่ำรวยและมีบุตร ภรรยา บริวาร ที่เชื่อฟัง

          ๓. ทานที่ให้โดยกาลอันควร ทำให้ร่ำรวยตั้งแต่ปฐมวัย

          ๔. ทานที่ให้ด้วยจิตอนุเคราะห์ ทำให้ร่ำรวยและพอใจใช้ของดีๆ

          ๕. ทานที่ให้โดยไม่กระทบตนและผู้อื่น ทำให้ร่ำรวยและทรัพย์นั้นปลอดภัยจากไฟ น้ำ หรือการแย่งชิงของผู้อื่น

           ทานสูตร (๒๓/๔๙) พระพุทธเจ้าตรัสถึงการให้ทาน ๗ อย่าง
          ๑. การให้ทานด้วยคิดว่า ตายไปจักได้เสวยผลทานนี้ เมื่อตายแล้วย่อมเกิดในสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา

          ๒. การให้ทานด้วยคิดว่า ทานเป็นการดี เมื่อตายแล้วย่อมเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

          ๓. การให้ทานด้วยคิดว่า บิดามารดาปู่ย่าตายายเคยให้ เราไม่ควรทำให้เสียประเพณี เมื่อตายแล้วย่อมเกิดในสวรรค์ชั้นยามา

          ๔. การให้ทานด้วยคิดว่า เราหุงหากินได้จะไม่ให้ทานแก่สมณะผู้ไม่หุงหา ไม่สมควร เมื่อตายแล้วย่อมเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิต

          ๕. การให้ทานด้วยคิดว่า เราจักเป็นผู้จำแนกแจกทานเหมือนฤษีครั้งก่อน เมื่อตายแล้วย่อมเกิดในสวรรค์ชั้นนิมมานรดี

          ๖. การให้ทานด้วยคิดว่า เมื่อเราให้ทานอย่างนี้ จิตจะเลื่อมใส เกิดความปลื้มใจสุขใจ เมื่อตายแล้วย่อมเกิดในสวรรค์ชั้นปรนิมมิตวสวัตดี

          ๗. การให้ทานเพื่อเป็นเครื่องปรุงแต่งจิต เมื่อตายแล้วย่อมเกิด ในพรหมโลก (ชั้นสุทธาวาส) ภายหลังย่อมปรินิพพานในภพนั้นเอง (อรรถกถาอธิบายว่า เขาไม่อาจไปเกิดในพรหมโลกด้วยทาน แต่ด้วยจิตอันประดับด้วยทานนั้น เขาทำฌานและอริยมรรคให้บังเกิด ย่อมเกิดในพรหมโลกด้วยฌาน)

           อรรถกถาธรรมบท ภาค ๔ กล่าวถึงทาน ๔ ประการ คือ
          ๑. ให้ทานด้วยตน ไม่ชักชวนผู้อื่น ย่อมได้โภคสมบัติ ไม่ได้บริวารสมบัติ
          ๒. ชักชวนผู้อื่น ไม่ให้ด้วยตน ย่อมได้บริวารสมบัติ ไม่ได้โภคสมบัติ
          ๓. ไม่ให้ด้วยตน ทั้งไม่ชักชวนผู้อื่น ย่อมไม่ได้โภคสมบัติ ไม่ได้บริวารสมบัติ
          ๔. ให้ด้วยตน ทั้งชักชวนผู้อื่น ย่อมได้ทั้งโภคสมบัติ และบริวารสมบัติ

           อรรถกถากล่าวว่า ทานที่มีผลมากประกอบด้วยองค์ ๓ คือ
          ๑. ผู้รับมีศีลมีคุณธรรม
          ๒. ของที่ให้ได้มาอย่างสุจริต มีประโยชน์และสมควรแก่ผู้รับ
          ๓. มีเจตนาบริสุทธิ์ มีจิตใจที่ยินดี แจ่มใส เบิกบาน ทั้งก่อนให้ ขณะให้ และเมื่อให้แล้ว

           อรรถกถากล่าวว่า ผลแห่งบาปจะมากหรือน้อยขึ้นกับองค์ ๓ คือ
          ๑. ถ้าคน สัตว์ หรือสิ่งของที่ล่วงละเมิด มีความดี ประโยชน์ หรือมูลค่ามาก บาปก็มาก ถ้าความดี ประโยชน์หรือมูลค่าน้อย บาปก็น้อย
          ๒. ถ้าความพยายามมากก็บาปมาก ถ้าความพยายามน้อยก็บาปน้อย
          ๓. ถ้าเหตุจูงใจคือราคะโทสะโมหะมากก็บาปมาก ถ้าราคะโทสะโมหะน้อยก็บาปน้อย


ขอบคุณข้อมูลจากเวบ http://www.dhammajak.net/book/kam/kam04.php

วันพฤหัสบดีที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

คำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์ปฐม

“ดู ก่อนท่านทั้งหลาย ท่านที่มาประชุมทั้งหมด จะเป็นเทวดาก็ดี นางฟ้าก็ดี พรหมก็ดี ขอทุกท่านจงอย่าลืมความตาย นั่นหมายถึงว่า การจุติ ลืมความเป็นทิพย์เสีย อย่าเพลิดเพลินเกินไป อย่ามีความสุขเกินไป และมันจะทุกข์ทีหลัง จงดูภาพมนุษย์ว่า มนุษย์เมืองไหนบ้างที่น่าเกิด ดินแดนไหนที่มีความสุขไม่มีการงาน เราจะมองไม่เห็นความสุขของมนุษย์ เมืองมนุษย์มีแต่ความทุกข์ ต้องประกอบกิจการงานทุกอย่าง ต้องกระทบกระทั่งกับอารมณ์ มีความปรารถนาไม่ค่อยจะสมหวังทุกอย่างต้องใช้แรงงาน

แต่ว่ามาเป็น เทวดา มาเป็นนางฟ้า ทุกอย่างหมดสิ้น นั่นหมายความว่าไม่ต้องทำอะไรทั้งหมด ร่างกายอิ่มเป็นปกติ ร่างกายเยือกเย็นอบอุ่น ไม่ต้องห่มผ้า และมีความปรารถนาสมหวัง ก็หมายความถ้าจะไปทางไหน ก็สามารถลอยไปถึงที่นั่นได้ทันทีทันใด ความป่วยไม่มี ความแก่ไม่มี ร่างกายไม่มีการเปลี่ยนแปลง ความเป็นทิพย์อย่างนี้ ท่านทั้งหลายจงอย่ามัวเมา จงอย่ามีความเข้าใจผิดว่า เราจะอยู่ที่นี่ตลอดกาล ตลอดสมัย

ทั้งนี้เพราะอะไร เพราะอายุเทวดาก็ดี นางฟ้าก็ดี พรหมก็ดี อายุจำกัดตามบุญวาสนาบารมี ถ้าหมดบุญวาสนาบารมีก็ต้องจุติคือตาย แต่ว่าท่านทั้งหลายจงอย่าลืมว่า เทวดาก็ดี นางฟ้าก็ดี พรหมทั้งหมด ที่นั่งอยู่ที่นี่ทั้งหมด แม้แต่จะเป็นพระอริยะเจ้า ที่ท่านเป็นพระอริยเจ้าก็มาก อย่าลืมว่าทุกท่านยังมีบาปติดตัวอยู่ และการสะสมบาปมาเป็นชาติ ๆ ยังมีมากมาย” (พอพระพุทธเจ้าตรัสอย่างนี้ บรรดาท่านทั้งหลาย อาตมาก็ใช้กำลังใจดูร่างกายเทวดา นางฟ้ากับพรหม
เห็นเงาบาปอยู่ในหน้ามาก  เป็นอันว่าทุกองค์ ต่างองค์ต่างมีบาป แต่ก็มาเป็นเทวดา เป็นนางฟ้า เป็นพรหมได้ แล้วก็ดูตัวเองเวลานั้น ร่างกายของตัวเองก็เป็นทิพย์ บาปมันก็ท่วมท้นเหมือนกัน) ต่อไปองค์สมเด็จพระภควันต์ทรงตรัสว่า

“ภิกขเว......ดูก่อนภิกษุทั้ง หลาย (เวลานั้นมีพระมาด้วยหลายองค์) และท่านทั้งหลายที่นั่งอยู่ที่นี่ทั้งหมด จงอย่าลืมว่าทุกท่านมีบาปติดตัวมามากมาย อาศัยบุญเล็กน้อยก่อนจะตาย จิตใจนึกถึงบุญก่อน จึงได้มาเกิดบนสวรรค์บ้าง มาเกิดบนพรหมบ้าง ถ้าหากว่าท่านจุติเมื่อไร โน่น..... นรก (ท่านชี้มือลง เห็นนรกไฟสว่างจ้า แดงฉานไปหมด) ท่านทั้งหลายจะต้องพุ่งหลาวลงนรก เพราะใช้กฎของกรรม คือบาป ชำระหนี้บาป กว่าจะมาเกิดเป็นคนก็นานหนักหนา และมาเป็นคนแล้ว ก็ไม่แน่ว่าจะได้กลับมาเป็นเทวดา นางฟ้า หรือพรหมใหม่


ทั้ง นี้เพราะอะไร ก็เพราะว่าเป็นคนอาจจะทำบาปใหม่ อาจลงนรกไปใหม่ก็ได้ ฉะนั้น เมื่อท่านทั้งหลายมาถึงที่นี่ มาอยู่สวรรค์ก็ดี พรหมก็ดี เป็นทางครึ่งหนึ่งของนิพพาน ระหว่างมนุษย์กับนิพพาน เป็นอันว่าท่านทั้งหลายได้ครึ่งทาง การมาได้ครึ่งทางของท่าน ท่านทั้งหลายจงดูนั่น....นิพพาน” (ท่านยกมือชี้ขึ้นให้ดูพระนิพพาน เวลานั้นเทวดานางฟ้ากับพรหมทั้งหมด อาตมาก็เหมือนกัน เห็นพระนิพพานไสวสว่างจ้า มีวิมานสีเดียวกันคือ สีแก้ว แพรวพราวเป็นระยับ เป็นแก้วสีขาว พระอรหันต์ทั้งหลายที่อยู่ที่นั่น มีความสุขขนาดไหน มีความเข้าใจหมด รู้หมด เห็นหมด แล้วองค์สมเด็จพระบรมสุคตก็ทรงกลับมาพูดกับเทวดากับนางฟ้าใหม่ว่า)

“ท่าน ทั้งหลายจงหวังตั้งใจคิดว่า ถ้าการจุติมีคราวนี้ ถ้าบุญวาสนาบารมีของเรานี้สิ้นสุดลง เราจะไม่ไปเกิดเป็นมนุษย์ เราจะไม่เกิดเป็นเทวดา เราจะไม่เกิดเป็นนางฟ้า เราจะไม่ไปเกิดเป็นพรหม เราต้องการไปพระนิพพานจุดเดียว และการไปนิพพานนี่ ท่านทั้งหลายต้องยึด อารมณ์พระนิพพาน เป็นสำคัญ สำหรับพรหมก็ดี เทวดานางฟ้าเก่า ๆ ก็ดี อาตมาไม่หนักใจ ทั้งนี้เพราะมีความเข้าใจแล้ว (ก็แสดงว่าพรหม เทวดา นางฟ้าเก่า ๆ เป็นพระอริยเจ้ามาก)

ที่มีความเป็นห่วงก็เป็นห่วงเทวดา นางฟ้าใหม่ ๆ ที่มาเกิดใหม่ ๆ จะหลงความเป็นทิพย์ นั่นหมายความจะมีความเพลิดเพลินในความเป็นทิพย์ ยังมีความรู้สึกว่าเราจะเกิดอยู่ที่นี่ตลอดไป จะไม่มีการจุติ จะไม่มีการเคลื่อน อันนี้เป็นความเห็นที่ผิด จงคิดตามนี้เพื่อพระนิพพาน นั่นคือ จงมีความรู้สึกว่าเราจะต้องจุติวันนี้ไว้เสมอ และอาการของชีวิตนี่เป็นของที่ไม่แน่นอน เราจะตายเมื่อไหร่ก็ได้ ความตายเป็นของเที่ยง ความเป็นอยู่เป็นของไม่เที่ยง

เมื่อคิดอย่าง นี้แล้ว ทุกท่านจงอย่าประมาท จงใช้ปัญญาพิจารณาความดีของพระพุทธเจ้า พระธรรม พระอริยสงฆ์ ว่าท่านทั้งหลายควรจะเคารพไหม ถ้าจิตใจของท่านมีความศรัทธา มีความเคารพในพระพุทธเจ้า ในพระธรรม ในพระอริยสงฆ์ ก็เป็นอาการขั้นที่สองที่ท่านจะไปนิพพานได้ หลังจากนั้นขอท่านทั้งหลายจงทรงศีลให้บริสุทธิ์ จะเป็นศีล 5 ก็ตาม ศีล 8 ก็ตาม กรรมบถ 10 ก็ตาม ศีล 10 ก็ตาม ศีล 227 ก็ตาม (พอท่านพูดถึงศีล 227 ก็คิดในใจว่า เทวดาจะไปบวชที่ไหน องค์สมเด็จพระจอมไตรก็หันหน้ามาตรัสว่า)

“ฤาษี..... เทวดาเขาไม่ต้องบวช อย่างเทวดาชั้นยามาก็ดี ชั้นดุสิตก็ดี อย่างนี้เขามีศีลครบถ้วนบริบูรณ์ ทั้ง 227 เหมือนกับความเป็นพระ พรหมก็ตาม ก็เช่นเดียวกัน ทุกท่านอยู่ด้วยธรรมปีติ ทุกท่านอยู่ด้วยความสุข เขาไม่อาบัติ สิ่งที่จะเป็นอาบัติไม่มี สิ่งที่จะเป็นบาปไม่มี” (แล้วท่านก็กลับหันหน้าไปหาเทวดานางฟ้า กับพรหมว่า)

“ขอทุกท่านจง อย่าลืมคิดว่า เราจะเป็นผู้มีศีล ให้ตั้งเฉพาะศีล 5 ก็ดี ศีล 8 ก็ได้ ศีล 10 ก็ได้ กรรมบถ 10 ก็ได้ ศีล 227 ก็ได้ ตั้งใจว่า เราจะไม่ละเมิดศีล หลังจากนั้นจึงมีจิตใช้ปัญญาคิดว่า การเกิดเป็นเทวดาก็ดี เป็นนางฟ้าก็ดี เป็นพรหมก็ดี มีสภาพไม่เที่ยง จะต้องมีการจุติเป็นเวาระสุดท้าย ในเมื่อการจุติจะเกิดขึ้น อารมณ์จะทุกข์ จงคิดไว้เสมอว่าเราจะต้องจุติ ในเมื่อเราจะต้องจุติ เราจะไม่ยอมลงอบายภูมิ เราจะไม่เกิดเป็นมนุษย์

ท่าน ทั้งหลาย จงดูภาพของมนุษย์ (แล้วพระองค์ก็ชี้มาที่เมืองมนุษย์) มนุษย์เต็มไปด้วยความวุ่นวาย มนุษย์เต็มไปด้วยความโสโครก มนุษย์เต็มไปด้วยความทุกข์ มนุษย์เต็มไปด้วยการงานต่าง ๆ มนุษย์มีความหิว มีความกระหาย มีความอยาก มีความต้องการไม่สิ้นสุด สิ่งทั้งหลายที่ก่อสร้างขึ้นมาแล้ว จะเป็นทรัพย์สินยังไงก็ตาม ในเมื่อเราตายจากความเป็นมนุษย์เราก็หมดสิทธิ์ อย่างบางท่านเป็นพระมหากษัตริย์ อยู่ในพระราชฐานดี ๆ สร้างไว้เป็นที่หวงแหน คนภายนอกเข้าไม่ได้ เข้าได้แต่คนภายใน


แต่ ว่าท่านทั้งหลาย เมื่อตายมาแล้วกลับไปเกิดเป็นคน หากว่าท่านไม่ได้เกิดในตระกูลกษัตริย์ตามเดิม ท่านเป็นประชาชนคนภายนอก ท่านจะไม่มีสิทธิ์เข้าเขตนั้นเลย ทั้ง ๆ ที่เป็นของที่ท่านสร้างเอาไว้ ท่านทำเอาไว้ทุกอย่าง แล้วท่านจะไม่มีสิทธิ์ นี่ความไม่แน่นอนของความเป็นมนุษย์มันเป็นทุกข์อย่างนี้ ถ้าเกิดเป็นคนก็ต้องหยุด ต้องเดินไปเดินมา ทำกิจการงานทั้งวัน เพื่อผลประโยชน์หน่อยเดียว คือเงิน ถ้าไม่มีเงินก็ไม่สามารถจะมีชีวิตทรงตัวอยู่ได้ เพราะมีความจำเป็นต้องหาเงิน (ในเมื่อท่านตรัสอย่างนี้แล้วก็บอกว่า)

จง อย่าคิดเป็นมนุษย์ต่อไป ตัดความเป็นมนุษย์เสีย เลิกความหมายความเป็นมนุษย์ เห็นว่าโลกมนุษย์เป็นทุกข์ มนุษย์มีสภาพไม่เที่ยง ไม่มีการทรงตัว มีความเกิดขึ้นและมีความเปลี่ยนแปลง มีความแก่ มีความป่วย มีการพลัดพรากจากของรักของชอบใจ มีความตายในที่สุด และจงอย่าอยากเป็นเทวดา อยากเป็นนางฟ้า เป็นพรหมต่อไป เพราะเทวดา นางฟ้ากับพรหม ก็มีสภาพไม่เที่ยงเหมือนกัน

เมื่อมีความเกิดในเบื้องต้น ก็มีความเปลี่ยนแปลงไปธรรมดา ก็มีความจุติไปในที่สุด ทุกคนหวังนิพพานเป็นที่ไป ตั้งใจไว้เสมอว่า เราจะเป็นผู้มีศีล เราจะนับถือพระไตรสรณคมน์คือ พระพุทธเจ้า พระธรรม พระอริยสงฆ์ แล้วก็เราจะต้องจุติในวันข้างหน้า ตถาคตมีความรู้สึกว่าท่านทั้งหลายที่เป็นเทวดา นางฟ้า พรหมก่า ๆ มีความเข้าใจดีแล้ว (คำว่า “เข้าใจ” บรรดาท่านพุทธบริษัท หมายถึงว่าเขาปฏิบัติได้ นี่คืออารมณ์พระโสดาบัน กับอารมณ์พระอรหันต์)

สำหรับ เทวดา นางฟ้า และพรหมใหม่ ๆ จงตั้งใจไว้เสมอว่า จงลืมความเป็นทิพย์เสีย อย่าเพลิดเพลินเกินไป อย่ามีความสุขเกินไป และมันจะทุกข์ทีหลัง ตั้งใจคิดว่าความสุขที่ได้มานี่ เราได้มาจากบุญเล็กน้อยเท่านั้น และบาปใหญ่ที่ขังอยู่ที่ตัวเรายังมีอยู่ ถ้าเราเผลไม่สร้างความดี ในเมื่อจุติความเป็นเทวดาหรือพรหมในภพนี้แล้ว ทุกคนจะต้องลงอบายภูมิ

จง ดูภาพนรกว่าขุมไหนบ้างที่น่าอยู่น่ารัก มันไม่น่าอยู่ ไม่น่าเกิด ดินแดนไหนที่มีความสุขไม่มีการงาน เราจะมองไม่เห็นความสุขของมนุษย์ และก็ดูเทวดา นางฟ้า กับพรหม มนุษย์ที่เดินเกลื่อนกล่นทุกคน อยู่ในเมืองมนุษย์ เคยเป็นเทวดาเคยเป็นนางฟ้า เคยเป็นพรหมมาแล้ว แต่ว่าท่านทั้งหลายจงตั้งใจไว้เฉพาะนิพพาน จงดูภาพพระนิพพานให้ชัดเจนแจ่มใสว่า ดินแดนพระนิพพานไม่มีที่สิ้นสุด.....” (เมื่อพระองค์ตรัสเพียงเท่านี้ พระองค์ก็จบ)

สมเด็จองค์ปฐม ทรงพระเมตตาตรัสสอนเรื่องพรหมวิหาร๔




เรื่องพรหมวิหาร ๔

          เมื่ออาทิตย์ที่ ๑๖ พ.ค. ๒๕๓๖ สมเด็จองค์ปฐม ทรงพระเมตตาตรัสสอนเรื่องพรหมวิหาร๔ ให้ มีความสำคัญ ดังนี้

          ๑. จงมองหาความพอดีของร่างกายให้พบ และประการสำคัญ มองหาความพอดีของจิตให้พบเช่นกัน โดยอาศัยมัชฌิมาปฏิปทาเป็นทางสายกลาง อันไม่เบียดเบียนทั้งกายและจิตของตนเองเป็นหลัก

          ๒. จงมีพรหมวิหาร ๔ เป็นพื้นฐานของศีล สมาธิ ปัญญาขึ้นในจิตของตน เจริญพรหมวิหาร ๔ อยู่เนือง ๆ เพื่อเป็นกำลังเลี้ยงศีล สมาธิ ปัญญา ให้ทรงตัว ที่เจ้าอึดอัดขัดข้องกายและจิตอยู่นี้ เพราะพรหมวิหาร ๔ อ่อนเกินไป ขอให้ศึกษาทบทวนพรหมวิหาร ๔ ให้เป็นที่เข้าใจยิ่ง ๆ ขึ้นไปด้วย

          ๓. บุคคลใดขาดพรหมวิหาร ๔ ในจิตและกายของตน บุคคลนั้นยากที่จักทำความเพียรให้บรรลุมรรคผลขั้นสูงสุด ได้ยาก

          ๔. ขาดพรหมวิหาร ๔ ในจิตและกายของตน อารมณ์ก็จักมีแต่ความเร่าร้อน หาความสงบระงับมิได้ ให้หมั่นศึกษาพรหมวิหาร ๔ ดู และให้คิดพิจารณาทบทวนถึงเหตุผลของการมีและไม่มีพรหมวิหาร ๔ ด้วย อย่าศึกษาเพียงแค่อ่านและใช้สัญญารู้เพียงแค่ตัวหนังสือหยาบเกินไป ผลไม่เกิด

          ๕. อ่านทบทวนแล้วพิจารณาได้ผลอย่างไร เข้าใจว่าอย่างไรในพรหมวิหาร ๔ นี้ ก็ให้ลงบันทึกไว้ด้วย ซักซ้อมจิตให้มีอารมณ์เกาะพรหมวิหาร ๔ เข้าไว้

          ๖. พรหมวิหาร ๔ มีหลายระดับ จากกำลังอ่อน ๆ เอาเพียงแค่ศึกษาพื้น ๆ ก็พอ ถ้ารู้เพียงแค่นั้น ศีล สมาธิ ปัญญา จะเข้าถึงขั้นอธิจิตสิกขากับอธิปัญญาสิกขาได้ยาก

          ธัมมวิจัย ขออนุญาตเขียนไว้เป็นตัวอย่าง ตามคำสั่งของสมเด็จองค์ปฐมที่ว่า ให้ทบทวน ให้หมั่นศึกษา ให้หมั่นพิจารณาได้ผลอย่างไรให้บันทึกไว้ด้วย จึงขอเขียนเป็นข้อ ๆ ดังนี้

          ๑. พรหมวิหาร ๔ เป็นอารมณ์คิด พิจารณาทั้ง ๔ ข้อ การคิดพิจารณา เป็นต้นเหตุทำให้ปัญญาเกิด ใครไม่ทำตามท่านก็เป็นกรรมของผู้นั้น

          ๒. พรหมวิหาร ๔ เป็นทั้งอาหารและกำลังของ ศีล สมาธิ ปัญญา ผู้ใดอยากรู้รายละเอียดให้อ่านหรือฟังเทปที่หลวงพ่อฤๅษีท่านสอนไว้ มีรายละเอียดอยู่มากมาย

          ๓. เมตตา ความรัก ท่านให้หลักไว้ ๓ ข้อ คือ การกระทำนั้น (กรรม) ต้องไม่เบียดเบียนตนเอง (จิต) เป็นข้อแรก กรรมนั้นต้องไม่เบียดเบียนผู้อื่น (ร่างกาย) และกรรมนั้นต้องไม่เบียดเบียนทั้งตนเองและผู้อื่น หากขัดกับข้อใดข้อหนึ่งใน ๓ ข้อนี้แล้ว การกระทำนั้นมิใช่เมตตาในพุทธศาสนา

          ๔. ปัญญาทางพุทธ ท่านให้ใช้ถามและตอบจิตของตนเองด้วยเหตุด้วยผล โดยไม่ขัดต่อศีล สมาธิ ปัญญา อย่าไปถามคนอื่น บางคนยังไม่ทันใช้ความเพียรของตน หรือยังไม่ได้ปฏิบัติก็ถามผู้อื่นเสียก่อนแล้ว สงสัยเสียก่อนทำ ให้เลิกนิสัยนี้เสีย

          ๕. ธรรมทุกอย่างในพุทธศาสนา ต้องได้ด้วยความเพียรที่จิตและกายของตนเท่านั้น จึงจะเป็นของแท้ ของจริง คือ เพียรมากพักน้อยก็ได้เร็ว เพียรน้อยพักมากก็ได้ช้า

          ๖. พรหมวิหาร ๔ มี ๓ ระดับ เช่น ใครไม่มีเมตตา ก็ให้ทานทำทานไม่ได้ ถ้ามีเมตตาขั้นต่ำ สามารถทำทานได้ และทำแล้วยังมีอารมณ์เสียดายในทานอยู่ และยังหวังผลตอบแทนจากการทำทานของตน ยังไม่สนใจการรักษาศีล ถ้ามีเมตตาขั้นกลาง ทำทานแล้วจิตยังนึกอธิษฐานขอนั่นขอนี่อยู่ (หวังผลตอบแทน) ขอมากกิเลสก็ยังมาก ขอน้อยกิเลสก็บางลง พวกนี้ยอมรักษาศีล เริ่มเจริญภาวนาด้วย ถ้ามีเมตตาสูงไม่หวังผลตอบแทนใด ๆ ทั้งสิ้น จิตไม่อธิษฐานขออะไรทั้งหมดใน ๓ โลก คือ มนุษย์โลก เทวโลก และพรหมโลก จิตทำเพื่อพระนิพพานจุดเดียว พวกนี้มี ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นปกติอยู่กับจิต

          ๗. พรหมวิหาร ๔ นี้ละเอียดมาก จึงขอเขียนไว้แค่เป็นตัวอย่าง หากผู้ใดมีพรหมวิหาร ๔ เต็มและทรงตัว ผู้นั้นก็จบกิจในพระพุทธศาสนาเพราะเมื่อหมดอารมณ์เบียดเบียนตนเอง (จิต) ได้ถาวรแล้ว ก็ไม่มีทางที่จะไปเบียดเบียนผู้อื่นได้ จิตพ้นภัยตนเองแล้ว เพราะภัยที่ร้ายแรงที่สุดของการปฏิบัติธรรมก็คือ ภัยจากอารมณ์จิตของตนเองทำร้ายจิตตนเอง กรรมหมดตรงนี้ เพราะจิตดวงนี้ไม่สร้างกรรมอีก ไม่ต่อกรรมอีก

          ๘. มัชฌิมาปฏิปทาหรือทางสายกลาง ก็คือพรหมวิหาร ๔ นี่เอง(ไม่ขอเขียนรายละเอียด)

          ๙. แค่เมตตาความรักข้อแรกในพรหมวิหาร๔ หากผู้ใดเข้าใจและนำไปปฏิบัติจะเห็น จะรู้อารมณ์จิตของตนเองได้อย่างดีและจะอุทานว่า พรหมวิหาร ๔ นี้จริง ๆ แล้ว มันง่ายนิดเดียว

          ๑๐. คนส่วนใหญ่มักจะเมตตาผิดตัวคือไปเมตตากายมากกว่าจิต และบางคนหลงคิดว่ากายคือตัวเขา เพราะเขาไม่รู้จักจิต มีรายละเอียดอยู่มากไม่ขอเขียน การกระทำของเขาจึงเพิ่มสักกายทิฏฐิแทนที่จะลดสักกายทิฏฐิ เพราะสักกายทิฏฐิ พระท่านแปลว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวเนื่องกับร่างกาย

          ๑๑. พรหมวิหาร ๔ ของชาวโลก กับพรหมวิหาร ๔ ของชาวธรรม จึงแตกต่างกันชนิดตรงกันข้าม

          ๑๒. หากเอาพรหมวิหาร ๔ พิจารณาควบคู่กันไปกับบารมี ๑๐ แล้ว จะทำให้เกิดผลดีทั้งสองฝ่าย เพราะธรรม ๒ หมวดนี้ ต่างก็อาศัยกันและกัน ช่วยเสริมกำลังให้แก่กัน เพราะบารมี ๑๐ ก็มาจากศีล สมาธิ ปัญญา และพรหมวิหาร ๔ ก็เป็นอาหารของศีล สมาธิ ปัญญา หากเข้าใจดีแล้ว การพิจารณาคุณของพรหมวิหาร ๔ จึงมีมากสุดประมาณ ยากที่จะพิจารณาลงให้จบได้อย่างบริบูรณ์ เพราะว่าต้องอาศัย บารมีธรรมหรือบารมี ๑๐ ซึ่งก็มีตั้งแต่หยาบ กลาง และละเอียดเช่นกัน ในข้อนี้เป็นการแนะนำขององค์สมเด็จท่าน

                                     เมื่อพิจารณามาได้จนถึงจุดนี้ สมเด็จองค์ปัจจุบัน ท่านก็ทรงพระเมตตามาตรัสสอนว่า

          ๑. ถ้าจะให้พรหมวิหาร ๔ เต็ม ต้องอาศัยบารมี ๑๐ เป็นพื้นฐาน

          ๒. พยายามรักษาอารมณ์จิตให้เบา ๆ เข้าไว้ การเดินมรรคด้วยจิตจึงจักได้ผล

          ๓. การเอาจริงมิใช่การทำด้วยความเครียด การเอาจริง คือการรู้วาระของจิตถ้าจิตต้องการพัก เราก็พักในสมถะภาวนา ถ้าจิตต้องการคิด เราก็วิปัสสนาสลับไปสลับมาเรื่อย ๆ ตามอารมณ์ของจิต พยายามให้สบาย ๆ อย่าเคร่งเครียด จิตจะเป็นสุขอยู่ได้ทั้งสมถะและวิปัสสนา

          เมื่อปฏิบัติตามที่พระองค์ทรงเมตตาแนะนำ ก็เริ่มปฏิบัติตามนั้น การพิจารณาก็เกิด

          ความสงสัยขึ้นมาว่า บารมี ๑๐ อิงพรหมวิหาร ๔ หรือพรหมวิหาร ๔ อิงบารมี ๑๐ กันแน่ สมเด็จองค์ปัจจุบันก็ทรงตรัสว่า

          ๑. อิงด้วยกันและกัน เพราะในที่สุดธรรมะถ้ารู้แจ้งอย่างแท้จริงแล้ว ธรรมะนั้นก็จักไปในทางเดียวกัน ชื่อเรียกธรรมต่าง ๆ เวลานี้ ที่พวกเจ้ายังศึกษาอยู่ เรียกว่าสมมุติธรรม

          ๒. เมื่อพวกเจ้าศึกษาจนเป็นอเสขะบุคคลแล้ว เมื่อนั้นก็ถึง วิมุติธรรม ธรรมล้วน ๆไม่มีชื่อ อย่าไปเถียงหรือขัดแย้งกันว่าอะไรมันผิด เหมือนกับบางท่านจับสมถะก่อนแล้วจับวิปัสสนา บางท่านจับวิปัสสนาก่อนแล้วจับสมถะ ไม่มีอะไรผิด

          ๓. ที่ทบทวนเพียงแค่นี้ยังใช้ไม่ได้ หยาบเกินไป ต้องนำมาคิดพิจารณาใหม่อยู่เนือง ๆ มิฉะนั้นพรหมวิหาร ๔ บารมี ๑๐ จักเต็มได้ยาก

          ๔. อย่าทิ้งอิทธิบาท ๔ เป็นอันขาด ทุกอย่างสำเร็จได้ด้วยความเพียร

                                              พล.ต.ท.นพ.สมศักดิ์ สืบสงวน ผู้รวบรวม

คำสอนหลวงปู่ดู่ วัดสะแก






















ขึ้นชื่อว่าความชั่วแล้ว ไม่ทำเสียเลยดีกว่า



        
                                      ความชั่ว ไม่ทำเสียเลย ดีกว่า
พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสว่า ขึ้นชื่อว่าทุจริต แม้เพียงเล็กน้อยบุคคลไม่ควรทำ ด้วยความสำคัญว่า ชนพวกอื่นย่อมไม่รู้กรรมนี้ของเราส่วน สุจริตนั่นแหละ เมื่อคนอื่นแม้ไม่รู้ก็ควรทำ, เพราะว่าขึ้นชื่อว่าทุจริต แม้บุคคลปกปิดทำ ย่อมทำการเผาผลาญในภายหลัง, ส่วนสุจริตย่อมยังความปราโมทย์อย่างเดียวให้เกิดขึ้น ดังนี้แล้ว จึงตรัสพระคาถานี้ว่า:-

กรรมชั่ว ไม่ทำเสียเลยดีกว่า,    เพราะว่า กรรมชั่ว  ย่อมเผาผลาญในภายหลัง

ส่วนบุคคลทำกรรมใดแล้ว  ไม่ตามเดือดร้อน,   กรรมนั้น เป็นกรรมดี อันบุคคล ทำแล้ว ดีกว่า
(จาก...พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท)

                 หลวงปู่ดู่มักจะกล่าวเตือนศิษยานุศิษย์ ทั้งที่ใกล้ชิดและห่างไกล ตลอดจนสาธุชนญาติโยมทั้งหลาย ให้พึงสังวรอยู่เสมอก็คือ เรื่องควรงดเว้นกระทำกรรมชั่วโดยเด็ดขาด โดยท่านจะนำเอาพุทธพจน์ที่ว่า “ขึ้นชื่อว่าความชั่วแล้ว ไม่ทำเสียเลยดีกว่า” มาเป็นข้อเตือนสติแก่ทุกคน เพราะการกระทำกรรมใด ไม่ว่าจะเป็นกรรมดีหรือกรรมเลวก็ตาม จิตของผู้นั้นจะบันทึกเก็บงำข้อมูลเอาไว้โดยละเอียด เมื่อใดที่ถึงกาลมรณะ จิตตัวนี้จะเป็นตัวชี้นำไปสู่สุคติ หรือทุคติอย่างชัดเจน

           จิตตัวนี้ สำคัญนัก แม้เพียงไปยึดติดหรือข้องอยู่กับกรรมเพียงน้อยนิด ขณะใกล้จะสิ้นใจตาย ก็ยังสามารถเบี่ยงเบนจุดหมายปลายทางที่จะไปเกิดได้ ลักษณะที่จิตไปจับกรรมในขณะกำลังจะถึงมรณกาล เรียกว่า “มรณาสันนวิถี” นี้ หลวงปู่ดู่ท่านเคยกล่าวถึง พระภิกษุผู้ปฏิบัติกรรมฐานขั้นสูงรูปหนึ่ง พระภิกษุรูปนี้ หรือ อาจารย์รูปนี้เป็นที่แน่ใจว่า ไม่มีทางไปสูทุคติ หรือ ภูมิแห่งความทุกข์ยากลำบากอย่างแน่นอน ท่านถึงกับบอกแก่บรรดาศิษย์ของท่านว่า “หากท่านมรณภาพวันใด ทุกคนจะได้ยินเสียงปี่พาทย์ราดตะโพนมารับ” (คงหมายถึง เหล่าเทวดาแสดงเสียงดนตรีสวรรค์ต้อนรับ)

           ต่อมาอาจารย์รูปนี้อาพาธ และมีอาการทรุดหนักเกินกว่าจะเยียวยารักษาได้ กระทั่งมรณภาพ ในวันมรณภาพนั้น ศิษยานุศิษย์ และทายก ทายิกา มาชุมนุมกันเป็นจำนวนมาก เมื่ออาจารย์สิ้นลมหายใจ ทุกคนก็คิดว่า จะได้ยินเสียงปี่พาทย์ราดตะโพน แต่กลับไม่ได้แว่วเสียงอะไรเลย ทุกคนต่างพากันผิดหวังระคนเสียใจ ที่อาจารย์ของตนไม่ได้ไปดีดังที่ท่านตั้งปณิธาน และเชื่อมั่น อีกทั้งยังเกิดห่วงใยอาจารย์ไปต่าง ๆ นานา

           เหตุที่อาจารย์มิได้ไปตาม วิถีดังที่ตั้งใจ หลังจากมรณภาพแล้วนั้น เนื่องจากก่อนท่านจะอาพาธ มีโยมนำอ้อยมาถวาย ท่านจึงได้นำไปปลูกไว้ และเอาใจใส่รดน้ำอยู่เสมอ จนอ้อยเจริญงอกงามขึ้น เรื่อย ๆ ขณะที่ท่านใกล้จะถึงกาลมรณภาพ เกิดคิดไปถึงอ้อยกำลังเจริญงามเต็มที่ น่าจะตัดอ้อยไปปอกถวายพระฉัน

           ด้วยเหตุที่จิตไปข้องอยู่กับอ้อย เมื่อสิ้นใจตาย จึงไปเกิดเป็นตัวเล็น ติดอยู่ที่ต้นอ้อย ไปไหนไม่รอด พิธี งานศพของอาจารย์ยังดำเนินไปเรื่อย ๆ จนถึงวันที่ ๗ ทายกเห็นอ้อยกำลังงาม จึงได้ตัดไปปอกเปลือกแล้วควั่นอ้อยถวายพระ เป็นโอกาสดีของอาจารย์ท่าน จึงโมทนาไม่ติดเกาะอยู่ที่นั่นอีก

            ทันทีที่อาจารย์หลุดพ้นจากอัตภาพ ตัวเล็น เสียงปี่พาทย์ราดตะโพนก็ดังกังวานขึ้นในอากาศ เป็นที่ประจักษ์ของผู้ร่วมงานทุกคน ทำให้ทายก ทายิกา และบรรดาศิษย์ทั้งหลาย บังเกิดความปีติปราโมทย์กันทั่วหน้า เพราะเป็นไปตามวาจาของอาจารย์ทุกประการ

             เหตุนี้ หลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ จึงกล่าวย้ำซ้ำเตือนตามพุทธพจน์เสมอว่า “ขึ้นชื่อว่าความชั่ว ไม่ทำเสียเลยจะดีกว่า” เพราะถ้าจิตไปยึดติดกรรมเพียงน้อยนิด ก็ยังไม่อาจไปสู่สุคติได้ ดังเช่น อาจารย์ซึ่งปฏิบัติธรรมกรรมฐานมาอย่างเคี่ยวกรำ กระทั่งจิตหมดจดสดใสแล้ว เพียงแค่เกิดความห่วงใย “อยาก" จะนำอ้อยไปถวายให้พระฉันเท่านั้น ถึงกับไปไหนไม่รอดเอาดื้อ ๆ ดังเรื่องราวซึ่งได้กล่าวมาแล้ว
คติธรรม :-

           พระ นิพพานอุปมาขนาดเท่าเส้นผม ผู้ที่จะผ่านพ้นในขั้นสุดท้ายไปได้หรอืไม่ได้อยู่เพียงนิดเดียวในการทำจิต ตัดจุดนี้ได้หรือไม่เท่านั้น พระพุทธเจ้าตอนที่ท่านจะปรินิพพาน ท่านได้ปรินิพพานไประหว่างรูปฌานและอรูปฌาน เป็นการดับขันธ์ด้วยความบริสุทธิ์เหนือสมมติโดยสิ้นเชิง"

วันจันทร์ที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ตู้วัตถุมงคลของทางวัด

           

             ขอเชิญบูชาวัตถุมงคล เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจให้อยู่กับพระ เพื่อระลึกนึกถึงคุณพระรัตนตรัย เพื่อทำความดีละเว้นความชั่ว และเพื่ออาราธนา บารมีคุณพระคุ้มครองให้แคล้วคลาดปลอดภัย เป็นศิริมงคล ฯลฯ







พระครูพิชิตธีรคุณ ( หลวงปู่ธีร์ สุวณฺโณ ) วัดจันทราวาส อ.ลำปลายมาศ จ.บุรีรัมย์


                     พระครูพิชิตธีรคุณ ( หลวงปู่ธีร์ สุวณฺโณ )
           วัดจันทราวาส( ผักกาดหญ้า ) อ.ลำปลายมาศ จ.บุรีรัมย์

       นามเดิมชื่อ ธีร์ โสดรัมย์ เมื่ออายุ 20 ปี ได้อุปสมบท ณ วัดศุภโสภณ อ. ลำปลายมาศ พรรษา 3 หลวงปู่ได้อกธุดงค์แสวงหาอาจารย์เพื่อศึกษาวิทยาคม และวิปัสสนากรรมฐาน เท่าที่ทราบ     ประวัติครูบาอาจารย์ของท่านมีดังนี้ ท่านแรกคือ

         หลวงพ่อศิลา จนิทโชโต วัดโนนลี่ จ.สุรินทร์ ซึ่งท่านเป็นศิษย์เอกของสำเร็จลุนแห่งนครจำปาสัก หลวงปู่ธีร์เพียงรูปเดียวเท่านั้นที่ทำได้ หลวงพ่อศิลาเอ่ยปากชมว่าท่านมีพลังจิตสุงมาก ได้อยู่ศึกษาวิปัสสนสกรรมฐานและวิทยาคมตลอดทั้งวิชารักษาโรคต่างๆอยู่ 1 ปี จากนั้นจึงได้เดินทางไปศึกษาต่อจาก
        หลวงปู่คำมี พุทธสาโร วัดถ้ำคูหาสวรรค์ จ.ลพบุรี ซึ่งเป็นศิษย์ร่วมอาจารย์เดียวกันกับหลวงพ่อศิลาจนจบในสายวิชา จากนั้นได้เดินทางไปฝากตัวเป็นศิษย์
        หลวงพ่อสอน วัดเสิงสาง หลวงพ่อปุ๊ก วัดพุทรา หลวงพ่อใหญ่ วัดระเว ทั้งสามรูปเป็นครูบาอาจารย์ที่มีชื่อเสียงมากใน จ.นครราชสีมาในขณะนั้น โดยเฉพาะ หลวงพ่อปุ๊ก ซึ่งเล่ากันว่าท่านมีวิชารักษาโรคพิษสุนัขบ้าได้ชงัดนัก และในปัจจุบัน หลวงปู่ธีร์ก็ยังนำวิชาเหล่านี้มาใช้ช่วยเหลือไม่ว่าจะมนุษย์หรือสัตว์ อยู่มิได้ขาด
        ครูบาอาจารย์อีกท่านคือ หลวงพ่อหนู เกศโร วัดบึงอาจารย์ ท่านเป็นศิษย์ท่านว่า อาจารย์ฟ้อน ดีสว่าง ท่านเป็นศิษย์ที่ อาจารย์ฟ้อน ไว้วางใจมาก ถึงขนาดให้เป็นคนจัดการเรื่องศพท่าน แต่หลวงพ่อหนูก็มามรณภาพเสียก่อน ที่จะเผาศพ อาจารย์ฟ้อน ซึ่งต่อมาหลวงพ่อหนู ได้ไปนิมิตให้หลวงปู่ธีร์มาจัดการเรื่องเผาศพอาจารย์ฟ้อน ท่านจึงจัดพิธีเผาศพท่าน อ.ฟ้อน ในปี 2537 โดยหลวงปู่ธีร์และคณะศิษย์เจออุปสรรคมากมายแต่ทุกอย่างก็สำเร็จด้วยดี


                                     

แผนที่เดินทางไปวัดจันทราวาส

               
1.การเดินทางโดย รถไฟ มาลงที่สถานีลำปลายมาศ
              การเดินทางจะอ้างอิงเริ่มจากสถานีรถไฟลำปลายมาศครับ  จุดเริ่มต้นคือ สถานีรถไฟลำปลายมาศ (จุด " B" )  เดินทางไปตามถนนเลียบทางรถไฟ  เลี้ยวซ้าย 2 ครั้ง ก็ถึงวัดจะเห็นกำแพงวัดสีขาว และพระพุทธรูปองค์ใหญ่เหนือประตูทางเข้าวัดครับ ( จุด A )
        การเดินทางโดย รถไฟ ให้ลงที่สถานีลำปลายมาศ แล้วจ้างรถสามล้อ หรือมอเตอร์ไซค์ไปส่งที่ วัดราคาประมาณ 30-40 บาทครับ  หากต้องการพักค้างคืน เมื่อท่านลงจากสถานีแล้วมองไปตรงข้ามสถานีจะมีโรงแรมชื่อ พกเฮง เป็นโรงแรมห้องน้ำรวม มีทั้งแอร์และไม่แอร์ ( หน้าร้อนควรพักแอร์ครับ ) คุณภาพใช้ได้อยู่ในตัวเมือง แต่ที่อื่นๆก็มีครับตามสะดวก




2.กรณีเดินทางโดยรถยนต์ส่วนตัว อ้างอิงรพ.ลำปลายมาศ
            กรณีเดินทางโดยรถยนต์  เริ่มต้นจากโรงพยาบาลลำปลายมาศ (หรือ จุด"  A " หาไม่เจอถามคนแถวนั้นก็ได้)อยู่บนทางหลวงหมายเลข 2073  เดินทางตามเส้นทางสีน้ำเงินตามรูป จะพบวัดจันทราวาส (จุด B )กำแพงสีขาว พระพุทธรูปองค์ใหญ่เหนือประตูทางเข้า ไปไม่ถูกโทรถามที่วัดครับ ที่คุณอ้อ 0848233379 หรือ เบอร์โทร ทางวัดที่ 044-661415 

ผู้ปรารถนาพุทธภูมิ ต้องบำเพ็ญบารมี ๓๐ ทัศ



บารมี ๓๐ ทัศ

     บารมีทั้ง ๑๐ ประการอันเป็นองค์บารมีของพุทธการกธรรม สามารถแตกเป็น ๓ ระดับ คือ
     ๑. (สามัญ)บารมี หรือบารมีต้น
     ๒. อุปบารมี หรือบารมีกลาง
     ๓. ปรมัตถบารมี หรือบารมีปลาย

     การจำแนกระดับของบารมีนี้มีหลายประการ   เช่น

    จำแนกด้วยการกระทำ
     บารมีต้น เป็นการอนุโมทนาการกระทำของผู้อื่น
     อุปบารมี เป็นการให้ผู้อื่นทำ
     ปรมัตถบารมี เป็นการกระทำด้วยตนเอง

     จำแนกด้วยธรรม
     บารมีต้น เป็นธรรมขาวเจือด้วยธรรมดำ
     อุปบารมี เป็นธรรมขาวไม่เจือด้วยธรรมดำ
     ปรมัตถบารมี เป็นธรรมไม่ดำไม่ขาว

     จำแนกด้วยกาล
     บารมีต้น บำเพ็ญในกาลตั้งความปราถนาทางใจ
     อุปบารมี บำเพ็ญในกาลตั้งความปราถนาทางวาจา
     ปรมัตถบารมี บำเพ็ญในกาลตั้งความปราถนาทางกาย

     จำแนกด้วยความยาก
     บารมีต้น เนื่องด้วยวัตถุและทรัพย์นอกกาย
     อุปบารมี เนื่องด้วยอวัยวะและเลือดเนื้อ
     ปรมัตถบารมี เนื่องด้วยชีวิต

     (อรรถกถาพระไตรปิฎก เล่มที่ ๗๔ อรรถกถา จาริยาปิฏก)


     บารมีทั้งสิบอย่างที่เป็นบารมีต้น รวมกันเรียกว่า บารมี ๑๐ ทัศ
     บารมีทั้งสิบอย่างที่เป็นอุปบารมี รวมกันเรียกว่า อุปบารมี ๑๐ ทัศ
     บารมีทั้งสิบอย่างที่เป็นปรมัตถบารมี รวมกันเรียกว่า ปรมัตถบารมี ๑๐ ทัศ

     ผู้ปรารถนาสาวกภูมิ ต้องบำเพ็ญบารมี ๑๐ ทัศ
     ผู้ปรารถนาปัจเจกภูมิ ต้องบำเพ็ญบารมี ๒๐ ทัศ คือ บารมีและอุปบารมี
     

ผู้ปรารถนาพุทธภูมิ ต้องบำเพ็ญบารมี ๓๐ ทัศ
   คือ บารมี อุปบารมี และปรมัตถบารมี

หลวงปู่ดู่ วัดสะแก บอกว่า กรรมทางวาจามีผลร้ายแรงมาก ระวังปาก กรรมจะขัดบุญ



หลวงปู่ดู่สอนศิษย์ หลวงปู่ท่านมักกล่าวถึงมงคลที่สำคัญที่ท่านอยากให้ลูกศิษย์ได้
นำไปปฏิบัติ คือ มงคล 38 ประการ   และ สัมมาวาจาชอบ คือ พูดแต่สิ่งที่เป็นมงคล

มงคล  คือ  เหตุแห่งความสุข ความก้าวหน้าในการดำเนินชีวิต ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้ให้พุทธศาสนิกชนได้พึงปฏิบัติ นำมาจากบทมงคลสูตรที่พระพุทธเจ้าตรัสตอบปัญหาเทวดาที่ถามว่า คุณธรรมอันใดที่ทำให้ชีวิตประสบความเจริญหรือมี "มงคลชีวิต" ซึ่งก็มี ๓๘ ประการได้แก่

๑. การไม่คบคนพาล  
๒. การคบบัญฑิต  
๓. การบูชาบุคคลที่ควรบูชา  
๔. การอยู่ในถิ่นอันสมควร 
๕. เคยทำบุญมาก่อน 
๖. การตั้งตนชอบ
๗. ความเป็นพหูสูต 
๘. การรอบรู้ในศิลปะ  
๙. มีวินัยที่ดี
๑๐.กล่าววาจาอันเป็นสุภาษิต
๑๑.การบำรุงบิดามารดา 
๑๒.การสงเคราะห์บุตร 
๑๓.การสงเคราะห์ภรรยา 

๑๔.ทำงานไม่ให้คั่งค้าง 

๑๕.การให้ทาน
๑๖.การประพฤติธรรม
๑๗.การสงเคราะห์ญาติ
๑๘.ทำงานที่ไม่มีโทษ
๑๙.ละเว้นจากบาป 

๒๐.สำรวมจากการดื่มน้ำเมา
๒๑.ไม่ประมาทในธรรมทั้งหลาย
๒๒.มีความเคารพ
๒๓.มีความถ่อมตน 

๒๔.มีความสันโดษ 
๒๕.มีความกตัญญู
๒๖.การฟังธรรมตามกาล
๒๗.มีความอดทน
๒๘.เป็นผู้ว่าง่าย
๒๙.การได้เห็นสมณะ
๓๐.การสนทนาธรรมตามกาล 

๓๑.การบำเพ็ญตบะ 

๓๒.การประพฤติพรหมจรรย์ 

๓๓.การเห็นอริยสัจ  
๓๔.การทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน
๓๕.มีจิตไม่หวั่นไหวในโลกธรรม 

๓๖.มีจิตไม่เศร้าโศก 

๓๗.มีจิตปราศจากกิเลส
๓๘.มีจิตเกษม 



สัมมาวาจา   คือ   การเจรจาชอบ  ประพฤติวจีสุจริต

      มรรคมีองค์ ๘ อันเป็นทางที่จะนำไปสู่ความ ดับทุกข์ ประกอบด้วย 


                  ๑. สัมมาทิฐิ ความเห็นชอบ 
                  ๒. สัมมาสังกัปปะ ความดำริชอบ 
                  ๓. สัมมาวาจา การเจรจาชอบ 
                  ๔. สัมมากัมมันตะ การงานชอบ 
                  ๕. สัมมาอาชีวะ การเลี้ยงชีวิตชอบ 
                  ๖. สัมมาวายามะ ความพยายามชอบ 
                  ๗. สัมมาสติ ความระลึกชอบ 
                  ๘. สัมมาสมาธิ ความตั้งใจชอบ 

        รวมเรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา แปลว่า ทางสายกลาง; การปฏิบัติที่ไม่ตึงนักไม่หย่อนนัก, การปฏิบัติที่ไม่ตึงไปทางใด ทางหนึ่ง.
        มรรค, มรรค-, มรรคา [มัก, มักคะ-, มันคา] น. ทาง; เหตุ, ใช้คู่กับ ผล ว่า เป็นมรรคเป็นผล; ในพระพุทธศาสนา เป็นชื่อแห่งโลกุตรธรรม คู่กับ ผล มี ๔ ชั้น คือ โสดาปัตติมรรค สกทาคามิมรรค อนาคามิมรรค อรหัตมรรค, ทางที่จะนำไปสู่ความพ้นทุกข์ เป็น ๑ ในอริยสัจ ๔ ได้แก่ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ และมรรค เรียกเต็มว่า 


     หลวงปู่ดู่ท่านว่า  คนส่วนมากมักสร้างกรรมทางวาจา เพราะกรรมนี้สร้างได้ง่าย
แต่เขาไม่รู้หรอกว่าผลของกรรม เมื่อส่งผลจะร้ายแรงเพียงไร คำพูดนั้นสำคัญมาก บางคนพูดไม่ดีกับผู้อื่น จนเป็นเหตุถึงโกรธเกลียดกันชั่วชีวิตก็มี บางรายคำพูดเพียงไม่กี่คำ ก็ทำให้ไม่พูดกันไปหลายปี
คนส่วนมากที่ขึ้นโรงขึ้นศาล หรือทะเลาะกันจนไปถึงฆ่ากันตาย ก็เพราะคำพูดที่ไม่ดีนี่แหละ

     หลวงปู่ดู่  ท่านสอนอยู่เสมอว่า อย่าไปพูดไม่ดีกับใครเขา
ถ้ามีคนมาว่าหรือด่าเราแต่เราไม่ว่าหรือด่าเขาตอบมันก็จะไม่มีเรื่องกัน
แต่ถ้าแกไปด่าเขาเมื่อไรนั่นแหละเรื่องใหญ่ ท่านสอนศิษย์เสมอว่า
อย่าไปพูดทำลายความหวังของใครเขา
เพราะนั้นอาจจะเป็นความหวังเดียวที่เขามีอยู่
ถ้าแกไปพูดเข้าเมื่อไหร่กรรมใหญ่จะตกแก่ตนเอง

    ท่านบอกไว้อีกว่า คนที่ชอบด่าหรือใส่ร้ายผู้อื่นรวมไป
ถึงการพูดไม่ดีต่าง ๆ กับคนอื่นนั้น กรรมจะมาเร็วมาก
เขาผู้นั้นจะเป็นคนที่มีศัตรูทั้งภายนอกและภายใน
ไม่เป็นที่รักของคนทั่วไป ตรงกันข้ามกับเป็นคนที่น่ารังเกียจ
แก่คนทั้งหลาย กรรมนี้จะทำให้เขามีเรื่องและเดือดร้อนอยู่เสมอ ๆ
ทั้งทางกายและทางใจ บางคนทำกรรมนี้ไปเรื่อย ๆ อย่างไม่รู้ตัว
พอกรรมดีที่ตนเคยสร้างมาแต่ปางก่อนหมดหรือเหลือน้อยลง
กรรมชั่วที่สร้างนี้ก็จะสนองเขาอย่างหนักทั้งในภพนี้และภพหน้า
ในภพนี้เวลาที่กรรมดีแต่ปางก่อนจะส่งผลให้มีความสุขหรือมีโชคลาภ
กรรมชั่วก็จะเข้ามาตัดรอนกรรมดี เหมือนอย่างเขาผู้นั้น
ซื้อหวยเลข 56 หวยก็จะออกเลข 55 หรือ 57 บางที
ก็ติดต่อการค้าหรืองานต่าง ๆ มองเห็นอยู่ว่างานนี้ได้แน่นอน
แต่พอถึงเวลาก็ไปไม่ทันบ้าง ไปแล้วไม่เจอหรือมีเหตุต่าง ๆ
มาทำให้มีอุปสรรคอยู่เสมอ ๆ ซึ่งที่จริงแล้วผู้นั้นจะมีโชคที่ควร
ได้ประมาณเป็นล้าน ๆ เขาก็จะได้แค่หมื่นสองหมื่นหรือโชคครั้งนี้
จะได้หลายหมื่น แต่เขากับได้เพียงไม่กี่พันบาทหรือเพียงได้
ไม่กี่ร้อยเท่านั้นเอง นี้เป็นเพราะกรรมชั่วเข้ามาตัดรอนกรรมดี
และรวมถึงญาติพี่น้องลูกหลาน เขาเหล่านั้นก็จะทำความ
เดือดร้อนเสียหายมาให้ มีพี่น้องหรือญาติไปจนถึงเพื่อนฝูง
ก็จะโกงทรัพย์สินเงินทองของเราบ้าง บางครั้งก็พูดใส่ร้ายให้โทษ
ด่าว่าทะเลาะวิวาท ทำให้เราไม่สบายกายและสบายใจเป็นอย่างมาก
มีเรื่องเดือดร้อนต่าง ๆ อยู่ตลอดเวลาอย่างไม่จบสิ้น
มีลูกหลานก็จะดื้อด้าน ว่านอนสอนยาก ทำความเดือดร้อน
ให้เสียเงินทองอยู่มิได้ขาด ว่ากล่าวลูกหลานไม่เชื่อฟัง
ไม่เครารพนับถือ ลูกหลานบางคนก็จะอกตัญญูตนเองมัก
จะเดือดร้อนด้วยการเป็นโรคร้ายที่รักษายากหรือรักษาไม่หาย
เช่น อัมพฤต อัมพาต มะเร็ง เบาหวาน โรคหัวใจ และโรคร้ายต่าง ๆ
อีกมากมายหลายชนิด

      หลวงปู่ท่านบอก ไว้ว่า กรรมทางวาจามีผลร้ายแรงมาก
การที่เราพูดใส่ร้ายหรือพูดไม่ดีจนทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนและเสียใจ
หรือไปพูดทำลายความหวังต่าง ๆ ของเขาถ้ารู้ตัวให้หยุดเสีย
ถ้าไม่หยุดหรือเลิกทำเสียกรรมไม่สนองแต่ในชาตินี้
พอตายลงไปยังต้องไปใข้กรรมยังนรกตามขุมต่าง ๆ อีก
ท่านจะพูดและสอนศิษย์อยู่เสมอว่า "คนดีเขาไม่ตีใคร"
ความหมายว่าคนดีไม่ตีใคร ไม่ใช่เอาไม้หรือของแข็ง ๆ ไปตีเขา
แต่ท่านไม่ให้พูดจากไม่ดีด่าว่าใส่ร้ายทำให้ผู้อื่นเดืดดร้อนเสียหาย
และทุกข์ใจ หลวงปู่บอกว่าคนดีเขาไม่ว่าใคร
ถ้าแกไปว่าเขาแกก็จะเป็นคนไม่ดี
               คนดีไม่ตีใคร คือ ไม่ว่าร้ายคนอื่น ไม่เบียดเบียนคนอื่นให้ได้รับ ทุกข์ ทั้งกาย วาจา และใจ